E-Fix ช่างด่วน
6 ปีที่แล้ว
มุมกฎหมาย ผู้รับเหมาทำงานช้าจะโดนเลิกจ้างได้ไหม 1


(หมายเหตุ... บทความนี้สามารถแสดงความคิดเห็นได้ ด้านล่าง คำถามของคุณจะถูกรวบรวมและส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมาแนะนำและให้คำตอบ)

ในงานก่อสร้าง บ้างครั้งการดำเนินงานของ ผู้รับเหมา มีความล่าช้าไม่เป็นไปตามความต้องการของเจ้าของบ้าน ผู้ว่าจ้าง (มีได้ทั้งทำงานช้าจริงๆ และ แค่ไม่ทันใจคนว่าจ้าง) เรื่องนี้ทำให้ฝ่ายผู้จ้างรู้สึกไม่พอใจ จนในบางทีมีความรู้สึกว่าอยากจะเปลี่ยนทีมช่าง หรือ ผู้รับเหมาก่อสร้าง เอาชุดอื่นมาทำงานแทน เพราะทนไม่ไหว แต่อย่างไรก็ดี การว่าจ้างนั้นมีสัญญาว่าจ้างอยู่ หากว่า เจ้าของบ้านอยากจะเลิกจ้าง จะทำได้หรือไม่... และหากว่ายกเลิกเองได้ มันมีเป็นความเป็นธรรมกับ ผู้รับเหมา หรือ ช่าง ด้วยหรือเปล่า... เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ ทั้ง เจ้าของบ้าน และฝ่าย ช่าง หรือ ผู้รับเหมา ควรทำความเข้าใจ

ระหว่างเจ้าของบ้าน หรือ ผู้ว่าจ้าง กับ ผู้รับเหมา ที่มาทำงาน รับเหมาก่อสร้าง นั้น มีโอกาสที่จะเกิดประเด็นปัญหาระหว่างกันเกิดขึ้นได้ในหลายกรณี แม้ว่าจะไม่ได้ถึงขนาดเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจำ แต่ก็ต้องถือว่า พบเจอได้ และเกิดขึ้นบ่อยพอสมควร ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน หรือ การพยายามหาประโยชน์ให้กับตนเพิ่มขึ้นของทั้งฝ่าย (เจ้าของบ้านต่อแหลก อยากได้ถูกๆ กับ ผู้รับเหมาก่อสร้าง ใช้วัสดุไม่มีคุณภาพ หวังได้กำไรมาก) หรือเรื่องใหญ่ๆ อย่างเช่น การหนีงาน การไม่ยอมจ่ายเงิน การยกเลิกการจ้าง... ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ควรศึกษาและทำความเข้าใจ และหนึ่งในเรื่องที่ติดค้างคาใจ ทำให้ทั้งฝ่าย ผู้ว่าจ้าง และฝ่าย ผู้รับเหมา รู้สึกอึดอัดก็คือเรื่องการ “เลิกจ้าง” บางครั้งเจ้าของบ้านรู้สึกทนไม่ไหว เพราะรู้สึกว่า ผู้รับเหมา ทำงานได้ช้าเหลือเกิน (ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ จากการที่ ผู้รับเหมาก่อสร้าง วิ่งงาน , รับงานเกิดความสามารถของทีมงานที่มี , เงินทุนขาดมือ ฯลฯ.) แต่อย่างไรก็ตาม บางทีไม่ได้เกิดจากความผิดของ ผู้รับเหมา แต่เป็นปัญหาที่เกิดจาก การเบิกเงินไม่ได้ ปัญหาวัสดุขาดแคลน หรือ ปัญหาอย่างอื่นๆ ที่ยากแต่การควบคุม... การโดนเลิกจ้างก็เป็นเรื่องที่เพิ่มความเจ็บปวดให้กับ ผู้รับเหมา ... อย่างไรก็ตาม หากจะเถียงกันไปเถียงกันมา หรือ พิจารณาแต่จากมุมของตนเอง ก็เห็นจะไม่ได้ข้อยุติ เนื่องจาก ต่างฝ่ายคงคิดแต่ในแง่ของตัวเองก่อน... ดังนั้นเพื่อความเป็นธรรม เรามาฟังความเห็น จากนักกฎหมาย กันดีกว่า ว่าในเรื่องลักษณะนี้เราจะสามารถได้รับความเป็นธรรมอย่างไรได้บ้าง ตามกฎหมาย...

คำถาม : เจ้าของบ้านรู้สึกว่าช่างรับเหมาทำงานช้า อยากยกเลิกสัญญาจ้าง ได้หรือไม่



ความเห็นนักกฎหมาย :

“เมื่อพูดถึงเรื่อง เจ้าของบ้านรู้สึกว่าช่างรับเหมาทำงานช้า อยากยกเลิกสัญญาจ้าง จะทำได้หรือไม่ คงเป็นอีกประเด็นฮอตที่หลายท่านประสบปัญหาอยู่ ทั้งนี้ทั้งนั้น อย่างที่ได้เคยกล่าวมาในบทความก่อนๆแล้วว่า ในการที่จะตัดสินว่า ในระหว่างผู้รับเหมากับผู้ว่าจ้าง (ในที่นี้จะขอเรียกว่า เจ้าของบ้าน เพื่อง่ายแก่การเข้าใจ) ใครจะมีสิทธิ หน้าที่และความรับผิดตามสัญญามากน้อยเพียงไรนั้น ในเบื้องต้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาเสียก่อนว่า ในระหว่างคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ได้มีข้อตกลงเกี่ยวกับสัญญากันไว้เพียงไร ไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงด้วยวาจาหรือเป็นลายลักษณ์อักษร (ดังได้กล่าวมาแล้วว่า ในสัญญารับเหมาก่อสร้าง ซึ่งตามกฎหมายมักมีสภาพเป็นสัญญาจ้างทำของ ที่ไม่ว่าคู่สัญญาจะได้ทำความตกลงไว้เป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ ก็มีผลสมบูรณ์บังคับได้ตามกฎหมายทั้งสิ้น เพียงแต่การทำบันทึกข้อตกลงแห่งสัญญาให้เป็นลายลักษณ์อักษร ลงลายมือชื่อคู่สัญญาที่เกี่ยวข้อง ก็จะเป็นพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักค่อนข้างมากหากมีประเด็นปัญหากันขึ้นในภายหลัง) เช่นนี้ คู่สัญญาต้องกลับไปดูในสัญญาเสียก่อนว่า มีข้อตกลงในการส่งมอบงานกันไว้อย่างไร ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ในสัญญาว่าจ้างรับเหมาก่อสร้าง มักมีข้อตกลงให้ผู้รับเหมาส่งมอบงานให้แก่เจ้าของบ้านเป็นงวดๆ พร้อมกับการเบิกค่าจ้างเป็นงวดตามจำนวนครั้งที่ระบุไว้ในสัญญา เมื่อได้มีการตรวจรับงานโดยเรียบร้อยแล้ว ซึ่งในข้อสัญญาเหล่านี้ มักจะกำหนดไว้ชัดเจนว่า ในการว่าจ้างคราวหนึ่ง จะต้องส่งมอบงานกี่งวด เช่น คู่สัญญาตกลงกันว่า ให้มีการเบิกค่าจ้างเป็น 3 งวด งวดแรก เมื่องานแล้วเสร็จ 30%ของงานทั้งหมด ,งวดที่สอง เมื่องานแล้วเสร็จ 70%ของงานทั้งหมดและงวดสุดท้าย เมื่องานแล้วเสร็จบริบูรณ์ ดังนี้ หากผู้รับเหมาไม่ส่งมอบงานให้ทันภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ย่อมเป็นเหตุให้เจ้าของบ้านอาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหาย(ถ้าหากมี)จากผู้รับเหมาได้

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่คู่สัญญามิได้ตกลงในเรื่องกำหนดระยะเวลาในการส่งมอบงานเอาไว้ ซึ่งโดยมากที่พบ มักเป็นการว่าจ้างให้ก่อสร้างอาคารบ้านเรือนทั่วไป ที่มิใช่งานโครงการ เช่นนี้ จะใช้หลักเกณฑ์ใดในการพิจารณาว่า งานจะต้องแล้วเสร็จไปเท่าใด ในทางกฎหมาย มีบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้องบัญญัติไว้ดังนี้

มาตรา 215 บัญญัติว่า ‘เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ไซร้ เจ้าหนี้จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การนั้นก็ได้’

มาตรา 596 บัญญัติว่า ‘ถ้าผู้รับจ้างส่งมอบการที่ทำไม่ทันเวลาที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาก็ดี หรือถ้าไม่ได้กำหนดเวลาไว้ในสัญญาเมื่อล่วงพ้นเวลาอันควรแก่เหตุก็ดี ผู้ว่าจ้างชอบที่จะได้ลดสินจ้างลงหรือถ้าสาระสำคัญแห่งสัญญาอยู่ที่เวลาก็ชอบที่จะเลิกสัญญาได้’

มาตรา 593 ‘ถ้าผู้รับจ้างไม่เริ่มทำการในเวลาอันควรหรือทำการชักช้าฝ่าฝืนข้อกำหนดแห่งสัญญาก็ดี หรือทำการชักช้าโดยปราศจากความผิดของผู้ว่าจ้าง จนอาจคาดหมายล่วงหน้าได้ว่าการนั้นจะไม่สำเร็จภายในกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ก็ดี ผู้ว่าจ้างชอบที่จะเลิกสัญญาเสียได้ มิพักต้องรอคอยให้ถึงกำหนดส่งมอบของนั้นเลย’

จากบทบัญญัติข้างต้นจะเห็นได้ว่า เมื่อผู้รับเหมารับงานจากผู้ว่าจ้างหรือเจ้าของบ้านแล้ว ก็ควรที่จะเริ่มดำเนินการตามสัญญาโดยเร็ว หากล่าช้าจนเป็นที่คาดหมายได้ว่า งานอาจไม่เสร็จตามกำหนดเวลาที่ควรจะเป็น เจ้าของบ้านอาจใช้สิทธิเลิกสัญญาได้ ตามมาตรา 593”

สรุปก็คือ กฎหมาย อนุญาตให้เจ้าของบ้าน หรือ ผู้ว่าจ้าง มีสิทธิในการบอกเลิกจ้างลดค่าตอบแทน และให้ ผู้รับเหมา รับผิดชอบชดใช้ได้ในความเสียหาย... แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ยังไม่จบ เพราะนักกฎหมาย ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติม ว่า ถึงแม้กฎหมายจะให้ช่องในการบอกเลิกจ้าง ผู้รับเหมา ได้ แต่กฎหมาย ก็มีความเป็นธรรม และคุ้มครอง ผู้รับเหมา ด้วยเช่นกัน ซึ่งเราจะเอามาเล่าต่อในตอนหน้า โปรดติดตาม... และหากใคร มีคำถาม สามารถเขียนคำถาม หรือ แสดงความคิดเห็นได้ในกล่องข้อความด้านล่าง เราจะนำไปเสนอให้นักกฎหมาย มาช่วยให้ความเห็น ในแง่มุมทางกฎหมายต่อไป...

#ผู้รับเหมา #รับเหมาก่อสร้าง #กฎหมายรับเหมาก่อสร้าง #มุมกฎหมาย #ผู้รับเหมาก่อสร้าง #เลิกจ้าง
Share
7971