E-Fix ช่างด่วน
7 ปีที่แล้ว
มุมกฎหมาย บ้านมีปัญหาหลังตรวจรับผ่านแล้ว ผู้รับเหมา ต้องรับผิดชอบไหม


การดำเนินการให้สิ่งก่อสร้างที่ได้รับการว่าจ้างเสร็จสมบูรณ์ เป็นหน้าที่ของ ผู้รับเหมา ซึ่งจะต้องผ่านการตรวจสอบขั้นสุดท้ายที่เรียกว่าการ “ตรวจรับงาน” จากเจ้าของบ้านหรือผู้เชี่ยวชาญที่เจ้าของบ้านเชิญมาช่วยในการตรวจรับ หากว่าผ่าน ก็ถือว่าได้ทำงานไปเสร็จสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม... มีคำถามเกิดขึ้นว่า ในกรณีที่สิ่งก่อสร้างนั้นผ่านการตรวจรับงานไปแล้ว แต่เกิดพบว่ามีปัญหาความเสียหายเกิดขึ้นในภายหลัง ผู้รับเหมาก่อสร้าง จำเป็นต้องรับผิดชอบหรือไม่ หากรับผิดชอบ จะมีขอบเขตมากแค่ไหน ซึ่งเรื่องนี้เรามีความคิดเห็นและมุมมองของนักกฎหมาย เอามาแบ่งปันเพื่อเป็นความรู้กันสำหรับหมู่ช่าง หรือ ผู้รับเหมา ที่ทำงาน รับเหมาก่อสร้าง เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาดำเนินการเมื่อเกิดเหตุขึ้น

คำถาม : “ในกรณีบ้านผ่านการตรวจรับเรียบร้อยแล้ว แต่เกิดพบความบกพร่อง เสียหายในภายหลัง ผู้รับเหมา ต้องรับผิดชอบหรือไม่”



มุมมองของนักกฎหมาย...

ในกรณีเรื่องของความรับผิดชอบในงานก่อสร้างนั้น โดยทั่วไปจะมีระบุในสัญญา...

“อย่างไรก็ดี แม้ข้อตกลงเรื่องการแก้ไขงานบางเรื่อง คู่สัญญาจะมิได้ระบุลงไว้ในสัญญา แต่หากเป็นกรณีที่เจ้าของงานขอให้ผู้รับเหมาแก้ไขงานที่เกิดจากการชำรุดบกพร่องที่ไม่พึงพบเห็นได้จากสภาพภายนอกในเวลารับมอบงาน เช่นนี้ ผู้รับเหมายังคงต้องรับผิดชอบในการแก้ไขงานให้เจ้าของงานอยู่ ในการนี้ รวมถึง ความรับผิดในความชำรุดบกพร่องที่อาจปรากฏหรือพบได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันส่งมอบงาน หรือภายใน ห้าปี ถ้าการที่ได้รับว่าจ้างให้ทำนั้นเป็นสิ่งปลูกสร้างกับพื้นดินนอกจากงานที่ทำด้วยไม้อีกด้วย ทั้งนี้ ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 598, มาตรา 600 ได้บัญญัติไว้ตัวอย่างเช่น ผู้รับเหมารับก่อสร้างอาคารให้แก่เจ้าของบ้าน ในวันส่งมอบงานไม่พบปัญหาใดๆเกี่ยวกับงานที่รับมอบ แต่ภายหลังจากนั้น 6 เดือน ผนังอาคารมีรอยร้าวและหลังคารั่ว เช่นนี้ ตามกฎหมายย่อมยังคงอยู่ในความรับผิดของผู้รับเหมาอยู่ อย่างไรก็ตาม หากว่าปัญหาดังกล่าวเกิดเพราะวัสดุอุปกรณ์ที่เจ้าของบ้านจัดหามาให้ผู้รับเหมาปฏิบัติงาน หรือที่ผู้รับเหมาไปจัดหามานั้นไม่มีคุณภาพ ผู้รับเหมาหรือเจ้าของบ้านก็ชอบที่จะไปใช้สิทธิเรียกร้องให้ผู้ขายวัสดุอุปกรณ์ดังกล่าวรับผิดในความชำรุดบกพร่องได้ด้วย

ทั้งนี้ หากพิจารณาตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคำถามนี้ ดูเหมือนผู้รับเหมาจะมีภาระมากไปสักนิด แต่เชื่อว่า หากผู้รับเหมาเริ่มต้นด้วยการตกลงรายละเอียดในการดำเนินงานและเงื่อนไขต่างๆให้ชัดเจน โดยเฉพาะเงื่อนไขในการแก้ไขงาน ก็เป็นเกราะสำคัญที่จะป้องกันมิให้ปัญหาเรื่องเจ้าของบ้านให้ผู้รับเหมาแก้ไขงานไม่มีที่สิ้นสุด เป็นที่น่ารำคาญและเดือดร้อนแก่ผู้รับเหมามากเกินควร ประกอบกับ ในการทำงานของผู้รับเหมา หากในบางคราวจะมีข้อขาดตกบกพร่องไปบ้าง เพียงผู้รับเหมาแก้ไขงานให้เจ้าของบ้านตามที่ควรจะเป็น ก็จะเป็นการดียิ่งกว่าในการสร้างชื่อเสียงและความศรัทธา ต่อเจ้าของบ้านผู้ว่าจ้าง ในอันที่จะเป็นที่มาของการบอกต่องานที่มีคุณภาพให้ผู้รับเหมาได้งานเพิ่มขึ้น และมีค่าตัวเพิ่มขึ้นต่อไป”

สรุปก็คือ เรื่องของความรับผิด อยู่ที่เหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นหลัก หากว่าเกิดจากการดำเนินการของ ผู้รับเหมา ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างผิดแบบ ช่างทำงานพลาด หรือ การใช้วัสดุผิด ไม่ได้คุณภาพ อันนี้ ผู้รับเหมาก่อสร้าง จำเป็นที่จะต้องรับผิดชอบ แต่หากว่า เกิดจาก ผู้จำหน่ายวัสดุ ส่งมอบของที่มีปัญหาให้ อันนี้ ผู้รับเหมา สามารถให้ผู้จำหน่ายวัสดุร่วมรับผิดชอบได้ แต่หากว่า... ในกรณีที่ เจ้าของบ้านเป็นคนสั่งให้แก้แบบเปลี่ยนลักษณะจากเดิม โดย ผู้รับเหมา ทักท้วงแล้ว อันนี้เป็นความรับผิดชอบของเจ้าของบ้านที่จะต้องดำเนินการเอง หากจะให้ดำเนินการให้ก็สามารถขอเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมได้ และสิ่งที่สำคัญอีกอย่างให้ยึดที่สัญญาเป็นหลัก และต้องมองที่เหตุของการเกิดปัญหาในงานก่อสร้างนั่นเอง...

#ผู้รับเหมา #ผู้รับเหมาก่อสร้าง #รับเหมาก่อสร้าง #ตรวจรับงาน
Share
3787