E-Fix ช่างด่วน
6 ปีที่แล้ว
มุมกฎหมาย ผู้รับเหมาสั่งของแล้วไม่จ่าย ร้านวัสดุมาทวงเจ้าของบ้านได้ไหม


วัสดุก่อสร้าง เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในงานการก่อสร้างแน่นอน และในการจะได้มาซึ่งวัสดุก่อสร้าง ก็ต้องไปติดต่อร้านค้าที่เขาขายวัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้าง ซึ่งก็มีเปิดให้บริการอยู่มากมายเต็มไปหมด ส่วนมากก็จะดูกันที่เรื่องของ ราคา คุณภาพ และรูปแบบคุณสมบัติ รวมถึงหน้าตา ว่ามันตรงกับความต้องการมากแค่ไหนแล้วจึงสั่งมาใช้งาน แต่ในการสั่งวัสดุก่อสร้างนั้น บางครั้งเจ้าของบ้านให้ ผู้รับเหมา เป็นผู้ดำเนินการแทน เนื่องจากตนเองไม่มีความรู้ในเรื่องวัสดุดีเท่าผู้รับเหมาที่มีทักษะด้านช่าง แต่ก็มีบางครั้ง ที่เกิดปัญหาตามมารบกวนเจ้าของบ้านจากเรื่องนี้ เนื่องจาก อยู่ดีๆ ก็มี การเรียกเก็บเงิน หรือทวงค่าของมาจากร้านวัสดุก่อสร้าง ทั้งๆ ที่ตนเองไม่ทราบรายละเอียด เรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งปัญหาในเรื่องการก่อสร้าง ที่จะต้องหาคำตอบ ซึ่งกฎหมาย เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถให้ความยุติธรรมให้กับเราได้...

หมายเหตุ... บทความนี้สามารถแสดงความคิดเห็นได้ ด้านล่าง คำถามของคุณจะถูกรวบรวมและส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเพื่อแนะนำและให้คำตอบ

ความเห็นนักกฎหมาย :

“ปัญหากวนใจเจ้าของบ้านอีกปัญหาหนึ่งก็คือ กรณีที่เจ้าของร้านค้าวัสดุมาทวงเงินกับเจ้าของบ้าน เมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ คำถามที่ตามมาในใจของหลายๆ ท่านก็คือ แล้วเจ้าของบ้านจะต้องจ่ายเงินให้แก่เจ้าของร้นค้าวัสดุก่อสร้างหรือไม่

ในเบื้องต้น ต้องย้อนกลับไปถามเจ้าของบ้านและผู้รับเหมาเสียก่อนว่า สัญญาว่าจ้างที่เจ้าของบ้านตกลงกับผู้รับเหมาเป็นการตกลงกันภายใต้เงื่อนไขอย่างไร อย่างที่ได้เคยบอกในบทความเรื่องก่อนๆ ว่า ในกรณีที่เจ้าของบ้านและผู้รับเหมาตกลงให้เจ้าของบ้านเป็นฝ่ายจัดหา จัดซื้อ หรือเป็นผู้รับผิดชอบในวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง เช่นนี้ทุกท่านคงเข้าใจได้แน่นอนว่า ย่อมเป็นหน้าที่ของเจ้าของบ้านจะต้องจ่ายเงินให้แก่เจ้าของร้านค้าวัสดุอย่างแน่นอน แม้ว่าในการเลือกวัสดุอุปกรณ์ ผู้รับเหมาจะเป็นผู้เลือกก็ตาม ซึ่งก็คงเป็นเพียงการกระทำการแทนเจ้าของบ้านในการเลือกวัสดุอุปกรณ์เท่านั้น โดยที่ผู้รับเหมามิได้มีนิติสัมพันธ์กับร้านค้าวัสดุฯ จึงไม่ต้องรับผิดในการชำระราคาค่าวัสดุให้แก่ร้านค้าแต่อย่างใด แต่ข้อควรระวังก็คือ หากโดยพฤติการณ์ของผู้รับเหมา ทำให้ร้านค้าวัสดุฯ เข้าใจได้ว่า ผู้รับเหมาเป็นตัวแทน มีอำนาจทำการแทนเจ้าของบ้าน เช่นนี้ ผู้รับเหมาอาจต้องผูกพันรับผิดในการชำระหนี้ค่าวัสดุฯ แก่ร้านค้าได้...

ในทางกลับกัน กรณีที่ผู้รับเหมากับเจ้าของบ้านตกลงกันให้ผู้รับเหมารับเหมาทั้งค่าแรงและค่าของในทางกฎหมาย ย่อมชัดเจนว่า ผู้ที่มีนิติสัมพันธ์กับร้านค้า ก็คือผู้รับเหมา โดยมาก หากเป็นการซื้อสินค้าที่ร้านค้ามีวางจำหน่ายตามปกติ ก็มักเป็นนิติสัมพันธ์ตามสัญญาซื้อขาย โดยผู้รับเหมาเป็นคู่สัญญาในฐานะผู้ซื้อ และเจ้าของร้านค้าฯ อยู่ในฐานะผู้ขาย ซึ่งผู้รับเหมาย่อมต้องมีหน้าที่ชำระราคาค่าของที่ซื้อไปแก่ร้านค้า หากผู้รับเหมามิได้ปฏิบัติการชำระหนี้ดังกล่าว ก็ชอบที่จะใช้สิทธิในฐานะเจ้าหนี้แห่งสัญญาซื้อขาย เรียกร้องให้ลูกหนี้ซึ่งก็คือผู้รับเหมารับผิดชำระค่าของให้แก่ตน ไม่ชอบที่จะไปเรียกร้องให้เจ้าของบ้านรับผิด เพราะตามกฎหมาย เจ้าของบ้านมิใช่คู่สัญญากับร้านค้าวัสดุฯ ตามสัญญาซื้อขายเลย กล่าวให้เข้าใจง่ายก็คือ ใครเป็นลูกหนี้เรา(ใครมาซื้อของจากเรา) ก็ชอบที่เราจะต้องไปเรียกร้องเอากับคนนั้น ไม่เกี่ยวกับคนอื่น ดังนั้น ในกรณีเช่นนี้ เจ้าของร้านค้าวัสดุฯ จึงไม่สามารถเรียกให้เจ้าของบ้านจ่ายเงินค่าของได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในกรณีที่สัญญาระหว่างเจ้าของบ้านกับผู้รับเหมาตกลงให้ผู้รับเหมารับผิดชอบทั้งค่าแรงและค่าของ ย่อมชัดเจนตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นว่า เจ้าของบ้านไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในหนี้ค่าของที่ผู้รับเหมาต้องรับผิดชอบอีก แต่ในบางครั้ง หากโดยพฤติการณ์ของเจ้าของบ้านเองที่ได้แสดงออกต่อบุคคลภายนอก หรือยอมให้ผู้รับเหมากระทำการใดอันเป็นการให้บุคคลภายนอกเข้าใจว่า ผู้รับเหมาเป็นตัวแทนของเจ้าของบ้านในการไปซื้อของ เช่น การยอมให้ผู้รับเหมาใช้ชื่อของตนในการซื้อสินค้าหรือทำนิติกรรมกับบุคคลภายนอก เช่นนี้ เจ้าของบ้านอาจต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกในหนี้ที่ผู้รับเหมาก่อขึ้นก็ได้ ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงในแต่ละกรณีย่อมทำให้ผลทางกฎหมายที่เกิดขึ้นแตกต่างกันไป”

นี่เป็นความเห็นของนักกฎหมาย ซึ่งเราเชื่อว่าจะสามารถช่วยคลี่คลาย ปัญหาที่เกิดจากการที่ เจ้าของบ้าน ถูก ร้านค้าวัสดุก่อสร้าง มาทวงเงินค่าวัสดุ หรือ อุปกรณ์ก่อสร้างได้ ซึ่งปัญหาเรื่องนี้อาจเกิดขึ้นในกรณีเป็นปัญหาซ้ำซ้อน หลังจาก ผู้รับเหมา ทิ้งงานไป ทำให้เจ้าของบ้านโดนทั้ง งานไม่ได้ เผลอๆ จ่ายเงินไปแล้วด้วยซ้ำ แถมมาเจอว่าค่าวัสดุ ที่ตกลงว่าให้เหมา ก็ต้องมาตามจ่ายอีกในภายหลัง กรณีศึกษาในด้านกฎหมายนี้ก็น่าจะพอช่วยได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญก็คือ การวางหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องการซื้อหรือจัดหาวัสดุก่อสร้างกันให้ชัดเจนว่าใครจะเป็นฝ่ายรับผิดชอบเรื่องนี้ สามารถเขียนระบุลงไปในสัญญาก่อสร้างเพื่อให้เป็นหลักฐานและทำให้เข้าใจตรงกัน ทั้งตัวของเจ้าของบ้าน และผู้รับเหมาก่อสร้าง ไปจนถึง สามารถใช้อ้างอิงให้กับเจ้าของร้านวัสดุก่อสร้างทราบได้ด้วยในกรณีมีการมาทวงค่าวัสดุก่อสร้าง หากมีการไป เชื่อ วัสดุก่อสร้างเอามาทำงานก่อน หรือ หากกังวล เจ้าของบ้านก็สามารถเข้าไปร่วมในการจัดซื้อเสียเองก็ได้ เพื่อตัดความเสี่ยง และเลี่ยงปัญหาเรื่องราคาและคุณภาพ จะได้สามารถดำเนินการได้อย่างเหมาะสม อย่างน้อยก็ช่วยให้ไม่เจอปัญหาซ้ำซ้อน แทรกเข้ามา...

#วัสดุก่อสร้าง #ผู้รับเหมา #ผู้รับเหมาก่อสร้าง #ค่าวัสดุก่อสร้าง #ทิ้งงาน
Share
3360