E-Fix ช่างด่วน
6 ปีที่แล้ว
มุมกฎหมาย ผู้รับเหมาทำงานช้าจะโดนเลิกจ้างได้ไหม 2


(หมายเหตุ... บทความนี้สามารถแสดงความคิดเห็นได้ ด้านล่าง คำถามของคุณจะถูกรวบรวมและส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมาแนะนำและให้คำตอบ)

ครั้งก่อน เราได้นำเสนอข้อมูลความเห็นของนักกฎหมาย ที่เกี่ยวกับประเด็นที่ว่า ถ้าหาก ผู้รับเหมา ทำงานล่าช้า เจ้าของบ้านจะสามารถเลิกจ้างได้หรือไม่ ไป... ซึ่งในครั้งก่อน ก็ได้ข้อสรุปแล้วว่า สามารถทำได้ หากสมแก่เหตุ และมีเหตุผล รวมถึงหลักฐานเพียงพอ ก็สามารถฟ้องร้องได้เลยทีเดียว ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ ผู้รับเหมาก่อสร้าง ควรทราบและไม่ควรทำงานล่าช้าจนทำให้ผิดสัญญา และเจอปัญหาการเลิกจ้างตามมาได้ แต่อย่างไรก็ตาม เราได้ทิ้งท้ายเอาไว้ว่า แม้กฎหมายจะให้สิทธิ์กับผู้ว่าจ้าง แต่ก็ให้ความเป็นธรรมกับฝ่ายของ ผู้รับเหมา เช่นเดียวกัน ดังนั้นในคราวนี้เรามาดูกันต่อเลยดีกว่า ว่ากฎหมายให้ความเป็นธรรมกับฝ่ายของช่าง หรือ ผู้รับเหมา อย่างไรบ้าง...

คำถาม : มุมกฎหมายผู้รับเหมาทำงานช้าจะโดนเลิกจ้างได้ไหม



ความเห็นนักกฎหมาย :

เมื่อผู้รับเหมารับงานจากผู้ว่าจ้างหรือเจ้าของบ้านแล้ว ก็ควรที่จะเริ่มดำเนินการตามสัญญาโดยเร็ว หากล่าช้าจนเป็นที่คาดหมายได้ว่า งานอาจไม่เสร็จตามกำหนดเวลาที่ควรจะเป็น เจ้าของบ้านอาจใช้สิทธิเลิกสัญญาได้ ตามมาตรา 593 อย่างไรก็ตาม แม้ผู้รับเหมาจะทำงานจนส่งมอบงานล่าช้า หรือน่าจะล่าช้า ที่กฎหมายให้สิทธิแก่เจ้าของบ้านหรือผู้ว่าจ้างอาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้ก็ตาม หากผู้รับเหมาได้ทำงานไปแล้วเท่าใด ก็ชอบที่จะมีสิทธิเรียกเอาสินจ้างและค่าใช้จ่ายตามที่ตกลงกันในส่วนงานที่ได้ทำลงไปแล้วได้ หรือจะอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ กฎหมายมิได้คุ้มครองให้สิทธิเจ้าของบ้านหรือผู้ว่าจ้างเพียงฝ่ายเดียว กฎหมายยังคงคุ้มครองและให้ความเป็นธรรมแก่ฝ่ายผู้รับเหมา ให้ยังคงมีสิทธิได้รับค่าจ้างหรือค่าใช้จ่ายที่เขาต้องสูญเสียไปในงานอันเป็นคุณประโยชน์ของเจ้าของบ้านด้วย เว้นเสียแต่ว่า งานที่ผู้ว่าจ้างหรือเจ้าของบ้าน ว่าจ้างให้ผู้รับเหมาทำนั้น มีกำหนดเวลาเป็นสาระสำคัญ เช่น ผู้ว่าจ้าง ว่าจ้างให้ผู้รับเหมาก่อสร้างเรือนไทย สำหรับจัดแสดงแก่คณะผู้นำชาวต่างชาติในงานนิทรรศการเปิดประเทศไทย เช่นนี้ หากล่วงเลยกำหนดเวลาดังกล่าว สิ่งก่อสร้างเรือนไทยย่อมไม่มีประโยชน์อันใดอีก ดังนี้ ถือได้ว่า ตามสัญญา มีกำหนดเวลาเป็นสาระสำคัญ หากผู้รับเหมาดำเนินงานตามที่ได้รับว่าจ้างไม่แล้วเสร็จเป็นเหตุให้ส่งมอบงานล่าช้า ผู้ว่าจ้างย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทั้งหมด โดยไม่ต้องจ่ายค่าสินจ้างแก่ผู้รับจ้างเลย และผู้ว่าจ้างยังสามารถเรียกร้องให้ผู้รับเหมารับผิดในค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนที่เป็นผลมากจากการส่งมอบงานล่าช้าดังกล่าวได้ด้วย และสามารถเรียกร้องดอกเบี้ยได้อีกด้วย

อนึ่ง แม้ว่าตามสัญญา จะมีเงื่อนไขของกำหนดเวลาในการส่งมอบงานเป็นสาระสำคัญ ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้วว่า แม้ผู้รับเหมาจะได้ทำงานไปแล้วบางส่วน แต่เมื่องานล่าช้า ไม่แล้วเสร็จตามเวลา ผู้ว่าจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทั้งหมด โดยไม่จำต้องจ่ายค่าจ้างและค่าใช้จ่ายแก่ผู้รับเหมา เพราะสิ่งที่ผู้รับเหมาทำมาไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ว่าจ้างอีกต่อไป แต่หากผู้ว่าจ้างมีพฤติการณ์ยอมรับในความล่าช้าของงาน เป็นต้นว่า ยินยอมให้ผู้รับเหมาทำงานต่อไป ไม่ว่าจะมีค่าปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม ผู้ว่าจ้างก็อาจต้องชำระค่าสินจ้างในส่วนที่ผู้รับเหมาได้ทำลงไปแล้ว ทั้งนี้ ดังที่ได้กล่าวมาในทุกบทความว่า ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น มีลักษณะ ข้อตกลง และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ที่เข้ามาประกอบแตกต่างกันไป ฉะนั้น เมื่อใดที่ท่านพบปัญหาเกี่ยวกับกฎหมาย และไม่สามารถยุติเองได้ ควรปรึกษานักกฎหมายหรือผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางกฎหมายจะเป็นวิธีที่ปลอดภัยและดีที่สุด เพื่อป้องกันการเสียเปรียบที่เกิดจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ในทางกฎหมายจะดีกว่า”

สรุปก็คือ แม้ว่า เจ้าของบ้าน หรือ ฝ่ายผู้ว่าจ้าง สามารถที่จะบอกเลิกจ้าง ไม่จ่ายเงินค่าจ้างและสามารถเรียกร้องค่าเสียหาย ค่าชดเชยเอาจากฝ่ายของ ผู้รับเหมา ได้ แต่กฎหมายก็ยังให้ความเป็นธรรมในการที่จะเรียกร้องค่าใช้จ่ายค่าตอบแทน ในงานส่วนที่ทำผ่านมาแล้วให้กับ ช่าง หรือ ผู้รับเหมาก่อสร้าง ได้ ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ควรทำความเข้าใจและดูหลักฐานประกอบและข้อเท็จจริงอย่างถ่องแท้ หากว่าไม่มั่นใจ ก็ควรที่จะปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในด้านกฎหมายเสียก่อน เพื่อที่จะได้สามารถดำเนินการในการขอความเป็นธรรมให้กับตนเองได้อย่างเหมาะสม ซึ่งกฎหมายนั้นมีความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่ายอย่างเท่าเทียม ซึ่งสาระสำคัญในเรื่องความผิดการรับผิดชอบ และใครเป็นฝ่ายผิดนั้นก็อยู่ที่ สัญญาที่ทำกันไว้เป็นหลักฐาน พฤติกรรม เจตนา และสาเหตุ เป็นสำคัญ...

#ผู้รับเหมา #กฎหมายก่อสร้าง #ไม่จ่ายเงินผู้รับเหมา #เลิกจ้าง #ผู้รับเหมาก่อสร้าง #รับเหมาก่อสร้าง
Share
9025