E-Fix ช่างด่วน
7 ปีที่แล้ว
มุมกฎหมาย เจ้าของบ้านให้แก้งานบ่อยมากผู้รับเหมาจะทำไงดี


ปัญหาที่ ผู้รับเหมา ต้องพบเจอในงาน รับเหมาก่อสร้าง แน่นอนว่ามีมากมายหลายเรื่องหลากชนิด แต่เรื่องหนึ่งที่เรามักได้ยินหรือได้เจอกันอยู่บ่อยๆ ก็คือ เรื่องที่ว่า เจ้าของบ้าน ผู้ว่าจ้าง บอกให้ ผู้รับเหมาก่อสร้าง แก้ไขงาน ซึ่งอาจจะมองเป็นเรื่องปกติ แต่ก็มีเหมือนกัน ที่มีการสั่งให้แก้งานบ่อยมาก ก็ทำให้ ผู้รับเหมา รู้สึกว่ามันเป็นปัญหาและภาระในการทำงาน ต้องลงทุนเพิ่มทั้งค่าของค่าแรงงานช่าง ในกรณีแบบนี้ ก็เกิดเป็นคำถามขึ้นมาว่าขอบเขตที่ ผู้รับเหมา ควรจะต้องรับผิดชอบแก้ไขมีแค่ไหน ต้องทำตามคำสั่งให้แก้งานเสมอไปหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ เรามีมุมมองของนักกฎหมาย มาช่วยให้คำแนะนำ...

ในการแก้งาน แน่นอนว่า ผู้รับเหมา มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นแน่นอน ซึ่งในส่วนนี้ ผู้รับเหมาก่อสร้าง หลายๆ ราย รู้สึกหนักใจที่ต้องรับภาระในเรื่องนี้ แม้บางทีก็ไม่อยากที่จะขัดใจเจ้าของผู้ว่าจ้าง แต่เรื่องความหนักอกหนักใจเป็นเรื่องที่มีเกิดขึ้นเป็นธรรมดา หากว่าสามารถเก็บเงินเพิ่มได้ก็เป็นเรื่องที่สามารถช่วยได้ แม้จะมีเวลาในการทำงานเพิ่มขึ้น แต่ก็ได้รับเงินตอบแทนจากการทำงานเพิ่มเติมด้วย แต่... ในกรณีแบบนี้ ผู้รับเหมา จะสามารถเรียกร้องขอเงินจากผู้ว่าจ้างได้อีกหรือไม่...

คำถาม : “เจ้าของงานให้แก้งานบ่อยมาก ผู้รับเหมาสามารถทำสัญญาเพิ่มเติมเพื่อขอเก็บค่าใช้จ่ายในส่วนการแก้ไขได้อีกหรือไม่”

มุมมองของนักกฎหมาย...
“ปัญหานี้ เชื่อว่าผู้รับเหมาคงได้เคยประสบพบกันมาแล้วแทบทุกคน ปัญหาเนื่องจากมาตรฐานของแต่ละบุคคลแตกต่างกัน ทั้งตามตรรกะโดยทั่วไป เจ้าของงานก็คงต้องการงานที่เรียบร้อย มีคุณภาพดี และมีลักษณะงานที่ถูกใจตนมากที่สุด จนอาจกลายเป็นว่า เจ้าของบ้านมองแต่ในมุมของตนฝ่ายเดียว โดยมิได้คำนึงว่า ข้อเรียกร้องดังกล่าวของตนจะส่งผลกระทบต่อผู้รับเหมาเพียงไร
ในแง่มุมของกฎหมาย เรื่องนี้เป็นเรื่องยาก เพราะรายละเอียดในการขอแก้ไขในแต่ละงานมีลักษณะไม่เหมือนกัน แต่โดยหลักแล้ว เมื่อเกิดปัญหาดังกล่าวผู้รับเหมาจำเป็นต้องแก้งานให้แก่เจ้าของบ้านหรือไม่ ต้องพิจารณาเสียก่อนว่า งานที่เจ้าของบ้านให้ผู้รับเหมาแก้ไข เป็นเหตุเพราะการปฏิบัติงานบกพร่องของผู้รับเหมาหรือไม่ เช่นผู้รับเหมาติดตั้งวัสดุอุปกรณ์บางอย่างไม่เรียบร้อย ไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้การได้ เป็นต้นว่า ผู้รับเหมาติดตั้งลิ้นกลอนประตูห้องน้ำไม่ตรงกับช่องล็อคลิ้นบานประตูเป็นเหตุให้ประตูไม่สามารถลงกลอนได้ ,ผู้รับเหมาติดตั้งประตูเอียงเป็นเหตุให้การเปิดปิดประตูฝืด,ผู้รับเหมาทาสีไม่สม่ำเสมอดูไม่เรียบร้อย ฯลฯ ดังนี้ ย่อมยังอยู่ในความรับผิดชอบของผู้รับเหมาที่ต้องแก้ไขงานให้เจ้าของบ้านจนกว่าจะอยู่ในสภาพเรียบร้อย พร้อมใช้งานได้ เว้นเสียแต่ เหตุที่งานไม่เรียบร้อยดังกล่าวนั้น เป็นเพราะตัวเจ้าของบ้านเองเป็นคนออกคำสั่ง หรือกำหนดให้ทำเช่นนั้น ทั้งที่ผู้รับหมาได้เตือนแล้ว เช่นนี้ แม้งานจะไม่เรียบร้อย ก็คงไม่อยู่ในความรับผิดชอบของผู้รับเหมาที่จะต้องแก้ไขให้ตามร้องขอแต่อย่างใด ซึ่งหากเจ้าของงานยังเรียกร้องให้แก้ไขงานอีกในภายหลัง ผู้รับเหมาก็สามรถแจ้งแก่เจ้าของงานได้ว่า การแก้ไขดังกล่าวจะต้องมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
นอกจากนี้ ข้อตกลงในสัญญาที่ได้ตกลงกันไว้ก่อนเริ่มทำงานก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะแสดงได้ว่า คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายได้เคยตกลงกันไว้เช่นไร ซึ่งจะง่ายขึ้นหากมีการตกลงกันไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และมีการระบุถึงรายละเอียดเรื่องเงื่อนไขในการแก้ไขงานไว้ชัดเจน เช่น ในสัญญาได้มีการระบุไว้ว่า ผู้รับเหมาขอสงวนสิทธิในการแก้ไขงานไม่เกินกี่ครั้ง หรือ ผู้รับเหมาขอสงวนสิทธิในการแก้ไขงานให้ผู้ว่าจ้างเฉพาะในกรณีที่ผู้รับเหมาดำเนินการก่อสร้างไม่ตรงตามแบบที่ตกลงไว้ หรือใช้วัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้างไม่ถูกต้องตามสภาพ คุณภาพ ชนิด ประเภท ที่ได้ตกลงกันไว้แต่แรก ในกรณีเช่นนี้ หากข้อสัญญาระบุไว้ชัดเจน เมื่อเจ้าของบ้านขอให้แก้ไข ก็ต้องเป็นไปตามข้อตกลงในสัญญา หรืออาจกล่าวได้ว่า ผู้รับเหมาควรให้ความสำคัญกับสัญญาที่ทำกันไว้แต่แรกอย่างละเอียด ในการร่างสัญญาควรคำนึงถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต และทำความเข้าใจกันให้ชัดเจนแล้วจึงร่างเป็นสัญญา ทั้งนี้ สัญญาดังกล่าวที่ก็ไม่ควรมีลักษณะเอาเปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายมากเกินไป มิเช่นนั้นอาจเข้าลักษณะเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ที่อาจเป็นโมฆะ ไม่มีผลใช้บังคับได้ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540”

สรุปก็คือ ดูว่าสาเหตุที่มาของความจำเป็นที่ต้องให้ ผู้รับเหมา แก้ไขงานนั้นเกิดจากใคร หากเกิดจากการทำงานที่ผิดพลาด ใช้วัสดุไม่ถูกต้อง งานไม่ได้ขนาด หรือ ใช้ของไม่เป็นไปตามที่ตกลง อันนี้ ผู้รับเหมาก่อสร้าง จำเป็นที่จะต้องดำเนินการให้โดยไม่สามารถเรียกร้องขอเงินเพิ่ม แต่หากว่า เกิดจากฝ่ายของเจ้าของบ้านเป็นผู้สั่งเอง และ ผู้รับเหมา ห้ามปรามแนะนำแล้ว อันนี้ สามารถขอรับค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมได้ และให้ยึดในเรื่องสัญญาเป็นหลัก และสามารถทำสัญญาระบุได้ว่า จะมีการตกลงแก้ไขงานให้ได้กี่ครั้งเอาไว้ในนั้นได้ด้วย ดังนั้นการทำสัญญาให้รอบคอบเป็นเรื่องที่ป้องกันปัญหาในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี...

#ผู้รับเหมา #รับเหมาก่อสร้าง #ผู้รับเหมาก่อสร้าง #เจ้าของบ้านให้แก้งานบ่อย #สัญญารับเหมาก่อสร้าง
Share
4813