E-Fix ช่างด่วน
6 ปีที่แล้ว
มุมกฎหมาย ผู้รับเหมาทิ้งงาน วัสดุที่ทิ้งไว้เอามาใช้ได้หรือไม่ ตอนที่ 1

กรณีเกิดปัญหา ผู้รับเหมาทิ้งงาน เป็นเรื่องที่ไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้น ฝ่ายเจ้าของบ้านแน่นอนว่าหงุดหงิดสุดๆ เนื่องจากสิ่งที่ต้องการจะไม่เกิดขึ้นสมบูรณ์ตามที่อยากได้ หรือแม้แต่ฝ่าย ผู้รับเหมา เอง เรื่องนี้ก็ทำให้เสียชื่อเสียง และเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย แต่อย่างไรก็ตามปัญหานี้มีอยู่และเกิดขึ้นจริง ซึ่งก็จะต้องหาทางแก้ไขปัญหากันไปตามแต่กรณี เพราะบางครั้งการที่เกิดปัญหาทิ้งงานก็ไม่ได้เกิดจากความมุ่งหวังที่จะให้เกิดขึ้นตั้งแต่แรกของ ผู้รับเหมาก่อสร้าง แต่เกิดจากการประสบปัญหาอย่างสุดวิสัย จนไม่อาจจะทำงานต่อไปได้ ก็ต้องหาทางไกล่เกลี่ยพูดจากันเพื่อให้งานสามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยไม่ให้ใครต้องได้รับความเสียหาย... แต่สำหรับในกรณีที่เกิดปัญหาขึ้น ผู้รับเหมา ไม่เข้ามาทำงานแล้ว มีลักษณะว่าจะทิ้งงาน นอกเหนือจากงานที่คั่งค้าง ก็จะมีเรื่องของวัสดุก่อสร้างที่ถูกนำเอาเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งจะเหลือตกค้างอยู่ เรื่องนี้ก็เกิดคำถามขึ้นเหมือนกันว่า วัสดุก่อสร้างที่เหลืออยู่เหล่านี้ ทางฝ่ายผู้ว่าจ้างหรือเจ้าของบ้าน จะสามารถนำเอาไปใช้งานต่อได้หรือไม่ จะให้ผู้รับเหมารายอื่นนำมาใช้เพื่อทำงานต่อได้ไหม จะเข้าข่ายการใช้สิ่งของที่เป็นของผู้อื่นโดยไม่ชอบหรือไม่... เรื่องนี้ เราได้นำเอาปัญหาไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย เพื่อให้มาให้คำแนะนำเพื่อให้สามารถปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม และไม่เกิดความผิดขึ้น ซึ่งจากข้อมูลที่เราได้รับมาจะสามารถทำได้เป็น 3 ลักษณะ ในคราวนี้เราจะอธิบายถึงลักษณะแรกที่สามารถดำเนินการได้เสียก่อน...

คำถาม :

ผู้รับเหมาทิ้งงาน วัสดุที่ทิ้งไว้เอามาใช้ได้หรือไม่


ความเห็นนักกฎหมาย :

“หลายครั้งที่ในการตกลงว่าจ้างก่อสร้างระหว่างผู้รับเหมากับเจ้าของบ้าน เป็นการตกลงโดยให้ผู้รับเหมาเป็นผู้รับผิดชอบทั้งในค่าแรง  ค่าวัสดุอุปกรณ์และผู้รับเหมาก็ได้เริ่มดำเนินงานไปแล้วบางส่วน  ได้สั่งของ สัมภาระที่จะใช้ในการก่อสร้างตลอดจนได้นำอุปกรณ์เครื่องมือที่จะใช้ในการทำงานมาไว้ที่สถานที่ก่อสร้างแล้ว  ต่อมาภายหลังปรากฏว่า ผู้รับเหมาไม่มาทำงานต่อ หรือทิ้งงานไป  ผลที่ตามมาก็คืองานที่ว่าจ้างต้องหยุดชะงัก ไม่แล้วเสร็จ  เช่นนี้ ปัญหาย่อมตกอยู่กับผู้ว่าจ้างหรือเจ้าของบ้านที่ต้องคิดหนักว่าต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป  หากจะจ้างผู้รับเหมาคนใหม่ เราจะสามารถนำสัมภาระหรืออุปกรณ์ผู้รับเหมาคนก่อนทิ้งไว้มาใช้งานได้ไหม  ผู้เขียนในฐานะนักกฎหมายจึงมีคำแนะนำในเรื่องนี้ดังนี้..."

"ตามกฎหมาย การที่ข้อสัญญาตกลงให้ผู้รับเหมาเป็นผู้รับผิดชอบในวัสดุ อุปกรณ์สัมภาระด้วยนั้น  ตราบใด ที่ผู้รับเหมายังมิได้นำสัมภาระเหล่านั้นมาประกอบก่อเป็นสิ่งก่อสร้างให้กับเจ้าของบ้าน  ยังคงต้องถือว่าผู้รับเหมายังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นอยู่ (ตีความตามนัย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 603 ซึ่งบัญญัติว่า ถ้า ผู้รับจ้าง เป็นผู้จัดหา สัมภาระ และ การที่จ้างทำนั้น พังทลาย หรือ บุบสลายลง ก่อนได้ส่งมอบกันถูกต้องไซร้ ท่านว่า ความวินาศ อันนั้น ตกเป็นพับ แก่ผู้รับจ้าง หากความวินาศนั้น มิได้เป็นเพราะ การกระทำของ ผู้ว่าจ้าง วรรค 2  ในกรณีเช่นว่านี้ สินจ้าง ก็เป็นอัน ไม่ต้องใช้ ) ดังนั้น แม้ผู้รับเหมาจะทิ้งงาน ตามกฎหมาย เจ้าของบ้านยังไม่อาจนำสัมภาระหรืออุปกรณ์ที่เขาทิ้งไว้มาใช้ได้  คงทำได้เพียงใช้สิทธิยึดหน่วงทรัพย์สินดังกล่าวของเขาไว้เท่านั้น  (ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 241ผู้ใดเป็นผู้ครองทรัพย์สินของผู้อื่น และมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินซึ่ง ครองนั้นไซร้ ท่านว่า ผู้นั้นจะยึดหน่วงทรัพย์สินนั้นไว้จนกว่า จะได้ชำระหนี้ ก็ได้ แต่ความที่กล่าวนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับ เมื่อ หนี้นั้น ยังไม่ถึงกำหนดวรรค2 อนึ่ง บทบัญญัติ ในวรรคก่อนนี้ท่านมิให้ใช้บังคับถ้า การที่เข้าครอบครองนั้น เริ่มมาแต่ การอันใดอันหนึ่ง ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมา) ซึ่งหากจะอธิบายให้เข้าใจและสามารถนำมาใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ ผู้เขียนแนะนำว่า เราสามารถดำเนินการได้ 3 รูปแบบ ตามแต่ความเหมาะสม ได้แก่..."

"วิธีที่หนึ่ง เมื่อเกิดกรณีที่ผู้รับเหมาทิ้งงาน เจ้าของบ้านหรือผู้ว่าจ้างควรติดต่อ หรือแจ้งให้ผู้รับเหมาทราบเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นต้นว่า ให้มีหนังสือแจ้งถึงพฤติการณ์ที่เกิดขึ้น และกำหนดระยะเวลาให้ผู้รับเหมากลับมาทำงานให้แล้วเสร็จ หากไม่กลับมาผู้ว่าจ้างจะขอใช้สิทธิเลิกสัญญา  และผู้ว่าจ้างหรือเจ้าของบ้านจะขอยึดถือเอาสัมภาระที่ผู้รับเหมาทิ้งไว้เป็นของผู้ว่าจ้างอันเป็นการรับชำระหนี้ด้วยวิธีการอย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ (เดิมทีในสัญญาผู้รับเหมาต้องชำระหนี้แก่ผู้ว่าจ้างด้วยการทำงานตามที่รับเหมาให้แล้วเสร็จ แต่ผู้ว่าจ้างจะให้ถือว่า  ผู้รับเหมาชำระหนี้ให้แก่ผู้ว่าจ้างด้วยการส่งมอบสัมภาระที่ทิ้งไว้) เช่นนี้ หากผู้รับเหมายังไม่ติดต่อกลับมา  ภายในกำหนดระยะเวลาที่บอกกล่าวไป ผู้ว่าจ้างก็ชอบที่จะใช้สิทธิเลิกสัญญาและยึดถือ นำเอาสัมภาระที่ผู้รับเหมาทิ้งไว้มาใช้ประโยชน์ได้เลย  ทั้งนี้  วิธีการนี้ผู้เขียนแนะนำให้เจ้าของบ้านหรือผู้ว่าจ้างเลือกใช้ในกรณีที่ในสัญญาตกลงจ่ายค่าจ้างกันเป็นงวดๆ ตามเนื้องานที่ทำได้ และผู้ว่าจ้างได้เคยจ่ายเงินให้ผู้รับเหมาไปแล้วบางส่วน  ทั้งนี้ ราคาค่าสัมภาระที่เจ้าของบ้านจะยึดถือเอา ควรสมสัดส่วนกับราคาที่ได้เคยจ่ายแก่ผู้รับเหมาไปด้วย”

นี่เป็นแนวทางแรกที่ผู้เป็นเจ้าของบ้าน หรือผู้ว่าจ้างสามารถดำเนินการได้ ซึ่งกล่าวโดยสรุปก็คือ จะต้องดูในเรื่องความเหมาะสม เนื่องจากกฎหมายได้กำหนดไว้ว่าแม้เขาจะทิ้งงานไป แต่สิ่งของและเครื่องมือที่ตกค้างอยู่ในพื้นที่ก่อสร้างก็ยังไม่ถือว่าตกเป็นของเจ้าของบ้านหรือตัวผู้ว่าจ้าง การนำมาใช้โดยถือว่าเป็นของตนทำไม่ได้ ทำได้เพียงยึดเอาไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีการดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งคำแนะนำในแนวทางแรกนี้ก็คือ ให้เจ้าของบ้านส่งหนังสือบอกกล่าวไปให้ชัดเจน เพื่อให้กลับมาทำงานโดยมีกำหนดเวลา หากพ้นกำหนดไปจึงจะสามารถดำเนินการต่อได้ ส่วนในเรื่องการนำเอาวัสดุมาใช้ต่อ ก็จะใช้ได้ในสัดส่วนที่เหมาะสมกับอัตราค่าตอบแทนที่ได้จ่ายให้ ผู้รับเหมา ไปแล้วเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้สำคัญมากโดยเฉพาะในกรณีที่แบ่งจ่ายเงินแบบเป็นงวด ไม่ควรยึดถือเอาวัสดุหรือเครื่องมือทั้งหมดมาเป็นของตนเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นอาจจะเกิดความผิดทางกฎหมาย...

นี่เป็น 1 ใน 3 แนวทาง ที่สามารถดำเนินการได้เกี่ยวกับเรื่องวัสดุ ในกรณี ผู้รับเหมาทิ้งงาน หรือ ผู้รับเหมา หายไป ไม่เข้ามาทำงาน แต่ทิ้งกองวัสดุ (รวมถึงเครื่องมือ) เอาไว้ ทำให้เกิดประเด็นว่าสิ่งของเหล่านี้สามารถนำเอาไปใช้ต่อได้หรือไม่ ซึ่งยังมีอีก 2 แนวทางที่สามารถดำเนินการได้ และเราจะนำเอามาเผยแพร่ให้ได้ทราบกันในครั้งต่อไป

#ผู้รับเหมา #ผู้รับเหมาทิ้งงาน #ผู้รับเหมาก่อสร้าง #วัสดุก่อสร้าง #กฎหมาย #กฎหมายก่อสร้าง
Share
5868