E-Fix ช่างด่วน
5 ปีที่แล้ว
มุมกฎหมาย ทำอย่างไรเมื่อช่างถูกขอให้ทำงานเกินข้อตกลง

ปัญหาที่เกิดขึ้นได้บ่อยอย่างหนึ่งในการให้บริการงานช่างก็คือ การที่ช่างรู้สึกว่าถูกเอารัดเอาเปรียบในการทำงานจากผู้ว่าจ้างให้ทำงานเพิ่มเติมเกินกว่าที่ได้ตกลงกัน มีการขอให้ทำงานในส่วนอื่นเพิ่ม แต่เวลาคิดราคากลับไม่จ่ายเพิ่มในส่วนที่เสริมเข้ามาในภายหลัง บางครั้งก็อ้างว่า "คิดว่าทำให้ฟรี" หรือ อ้างไปถึงคำว่า "นึกว่ามีน้ำใจทำให้" กันเลยก็มี เรื่องนี้เป็นปัญหาที่ทำให้ช่างที่พบเจอรู้สึกอึดอัดใจ บางทีนี่เป็นสาเหตุที่ทำให้ช่างหรือ ผู้รับเหมา บางรายถึงกับท้อใจอยากเลิกราจากวงการไปเลยก็มี ประเด็นนี้ houzzMate ได้นำเอาปัญหาไปปรึกษานักกฎหมายเพื่อสอบถามหาทางออกและหาหนทางในการแก้ไข เราลองมาฟังแนวคิดใน มุมกฎหมาย กันดู เพื่อจะได้มีแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้อย่างถูกต้องและมีหลักการทางกฎหมายรับรองได้

คำถาม : ทำอย่างไรเมื่อช่างถูกลูกค้ากดดันให้ช่วยทำงานอื่นที่อยู่นอกเหนือข้อตกลง


ความเห็นนักกฎหมาย :


"หากคุณเป็นช่าง แล้ววันหนึ่งมีลูกค้าจ้างคุณให้ไปซ่อมท่อประปาที่แตก ปรากฏว่าหลังจากที่คุณทำงานตามที่ตกลงให้ลูกค้าเสร็จแล้ว ลูกค้าร้องขอให้คุณช่วยทำสิ่งอื่นเพิ่มเติม (ขอให้ทำให้เปล่าโดยไม่คิดค่าบริการ) เช่น ขอให้คุณช่วยติดตั้งก๊อกน้ำเพิ่ม ขอให้ช่วยติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่น ขอให้ช่วยติดตั้งราวตากผ้า ขอให้ช่วยซ่อมบานพับประตู ฯลฯ เหล่านี้ หากดูเผินๆอาจดูเหมือนเป็นงานง่าย แต่ในความเป็นจริงแล้ว งานที่ลูกค้าร้องขอให้ช่วยทำ มีผลต่อการใช้เวลา ต้นทุน แรงงานของช่างเป็นอย่างมาก หากช่างจะไม่ทำให้ ก็เกรงว่าจะถูกลูกค้าตำหนิว่าไม่มีน้ำใจเอาได้ แต่หากต้องทำ ช่างก็ต้องเสียเวลา และผิดแผนงานที่วางไว้แต่แรก เช่นนี้ ในมุมของกฎหมายก็มีข้อพิจารณาดังนี้

อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า เมื่อใดก็ตามที่ช่างและลูกค้าตกลงว่าจ้าง และรับงานโดยหลักสัญญาย่อมเกิดขึ้นมีผลทันที และคู่สัญญาก็ย่อมมีหน้าที่ปฏิบัติตามสัญญานั้น ช่างก็ต้องซ่อมแซมให้แล้วเสร็จ ส่วนลูกค้าซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างก็ต้องชำระค่าจ้างตามที่ตกลงกัน ดังนั้นตามกฎหมายแล้ว สิ่งใดที่อยู่นอกเหนือข้อตกลง ช่างย่อมไม่มีหน้าที่ทำงานที่เพิ่มเติมมาให้แก่ลูกค้า หากจะให้ทำ ก็ควรตกลงราคากันใหม่ เพราะเมื่อใดก็ตามที่ช่างซ่อมแซม หรือทำงานจนแล้วเสร็จแล้ว ย่อมถือได้ว่าช่างได้ปฏิบัติการชำระหนี้ให้แก่ลูกค้าครบถ้วนแล้ว (ส่วนความรับผิดในความสมบูรณ์ของงานในระยะเวลาตามกฎหมายจะเป็นอย่างไรนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเราจะมาคุยกันในบทความต่อไป) ดังนั้น จึงตอบได้เลยว่า เมื่อเสร็จงานตามที่ตกลงแล้ว ในทางกฎหมาย ช่างไม่มีหน้าที่ต้องทำสิ่งอื่นให้แก่ลูกค้าอีกแล้ว

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำหรับเรื่องนี้ จริงๆแล้วคงไม่ได้อยู่ที่การถกกันในข้อกฎหมาย แต่เป็นเรื่องวิธีการจัดการกับลูกค้าให้ลงตัวในเรื่องความรู้สึก ให้ลูกค้าเข้าใจช่างมากกว่า ช่างควรชี้แจงลูกค้าให้เข้าใจในความยากง่ายของงานที่ลูกค้าขอให้ช่างทำโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เชื่อว่าหากเป็นงานที่ไม่ได้ยากเย็นมาก และใช้เวลาไม่มาก ไม่ทำให้ช่างต้องสูญเสียทรัพยากรด้านต่างๆ มากเกินไป ช่างหลายๆท่านก็ยินดีทำให้ เพราะนอกจากจะเป็นการสร้างความประทับใจแก่ลูกค้าด้วยการแสดงน้ำใจแล้ว ความประทับใจเหล่านี้ย่อมเป็นบ่อเกิดในการใช้บริการครั้งต่อไปด้วย แต่หากงานที่ลูกค้าขอให้ทำเพิ่ม แต่หากงานที่กระทบต่อช่างมาก ช่างควรอธิบายลูกค้าด้วยเหตุผลให้ลูกค้าเข้าใจ"


นี่เป็นมุมมองความเห็นของนักกฎหมาย ในประเด็นเรื่องที่ช่างถูกขอให้ทำงานเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ตกลงกัน ซึ่งเพื่อนๆ ช่างก็น่าจะได้แนวทางในการพิจารณาดำเนินการไปบ้างแล้ว ซึ่งแน่นอนว่า โดยทางกฎหมาย เมื่อช่างได้ทำงานครบถ้วนตามที่มีการตกลงทำ สัญญางานช่าง ให้ผู้ว่าจ้างแล้วถือว่าเป็นอันเสร็จสมบูรณ์งานที่เกินมาย่อมถือเป็นภาระงานใหม่ที่สามารถเรียกขอรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มเติมได้ แต่อย่างไรก็ดี ดังที่นักกฎหมายได้ให้ความเห็นว่า การที่เราทำงานเพิ่มเติม มีผลในเรื่องความรู้สึกที่ทำให้ผู้ว่าจ้างหรือลูกค้าเกิดความประทับใจและอยากเรียกเราไปให้บริการอีกในครั้งต่อไป ซึ่งเรื่องนี้เพื่อนๆ ช่างควรนำมาพิจารณาให้ดีก่อนที่จะตัดสินจตอบรับหรือปฏิเสธภาระงานที่เพิ่มขึ้นได้ และส่วนที่สำคัญก็คือ ควรมีการตกลงและอธิบายกันอย่างชัดเจนว่าส่วนใดคือภาระงานที่ว่าจ้างและส่วนใดคือส่วนที่ทำเพิ่ม เพื่อให้ไม่เกิดความผิดพ่องหมองใจหรือเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อกันในภายหลัง




#กฎหมาย #สัญญาช่าง #สัญญาว่าจ้าง #ช่างถูกเอาเปรียบ
Share
2019