E-Fix ช่างด่วน
7 ปีที่แล้ว
มุมกฎหมาย ถ้าผู้รับเหมาขอยืมหรือเบิกล่วงหน้าควรทำอย่างไร 2

มาต่อกันอีกตอนในเรื่องของ กรณี ผู้รับเหมา ขอรับเงินไปก่อน ไม่ว่าจะเป็นการ เบิกล่วงหน้าก่อนถึงงวดงานตามปกติ หรื แม้แต่การยืมเงิน ซึ่งในเรื่องนี้ ในมุมมองของนักกฎหมาย มันเป็นเรื่องคนละกรณีกัน และเราได้เล่าไปแล้วในตอนก่อนหน้าที่เป็นเรื่องกรณีการ ยืมเงิน จากผู้ว่าจ้างของ ผู้รับเหมาก่อสร้าง
( สามารถอ่านได้จาก ถ้าผู้รับเหมาขอยืมหรือเบิกล่วงหน้าควรทำอย่างไร 1 ) ในคราวนี้เราจะมาดูกันต่อในเรื่องของการที่ ผู้รับเหมาเบิกเงินล่วงหน้า ซึ่งเชื่อว่าเป็นกรณีที่พบบ่อยมากพอสมควรในการทำงาน รับเหมาก่อสร้าง ซึ่งบางครั้งก็ต้องยอมรับว่าตัวของผู้ทำงานอาจจะไม่มีความพร้อมเต็มที่นักในเรื่องของการเงิน การขอเบิกล่วงหน้าก็อาจจะเป็นไปได้ แต่หากว่าเราให้เบิกเงินล่วงหน้าแล้วมีปัญหา... ก็ควรจะทราบไว้ว่าเราสามารถดำเนินการได้อย่างไรบ้างในทางกฎหมาย... เพื่อให้ได้รับสิทธิ์ความเป็นธรรมตามที่กฎหมายให้ความคุ้มครอง...

ในตอนที่แล้วเราได้กล่าวไปแล้วว่า การเบิกเงินและการยืมเงินนั้น ทางกฎหมายแยกเป็นคนละลักษณะ การยืมเงิน ถือเป็นการกู้ยืม ซึ่งมีลักษณะไม่ต่างจากการยืมเงินทั่วไป ไม่ต้องเอามาปะปนกับเรื่องของงานการก่อสร้าง แม้ว่าเป็นกรณีที่ ผู้รับเหมา ที่มาทำงาน รับเหมาก่อสร้าง ให้เป็นผู้ขอยืม การทำสัญญา การใช้คืน และผลทางกฎหมาย เป็นเรื่องการกู้ยืม สัญญาก็เป็นสัญญากู้ยืม เป็นการเฉพาะ ซึ่งเราอธิบายไปในตอนก่อนหน้าแล้ว มาคราวนี้เราจะมาดูกันในเรื่องของการที่ ผู้รับเหมาเบิกเงินล่วงหน้า ว่าทำได้หรือไม่ และหากเกิดปัญหาจะมีผลหรือดำเนินการได้อย่างไรบ้างในทางกฎหมาย...

คำถาม “ถ้าผู้รับเหมาขอเบิกเงินก่อนล่วงหน้าควรทำสัญญาหรือไม่ หรือควรมีหลักฐานอย่างไรที่จะมีผลทางกฎหมาย ?”



มุมมองของนักกฎหมาย...

“กรณี ‘การให้ผู้รับเหมาเบิกเงินล่วงหน้า’ นั้น ตามกฎหมายย่อมถือเป็นนิติสัมพันธ์ตามสัญญาจ้างทำของ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 ที่ผู้รับเหมาจะต้องปฏิบัติการทำงานที่ได้รับว่าจ้างให้สำเร็จลุล่วงตามสัญญา ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ในระหว่างผู้ว่าจ้างและผู้รับเหมาจะมีการตกลงให้เบิกค่าจ้างเป็นงวดๆ ตามปริมาณงานที่แล้วเสร็จ ตามที่ตกลงกันไว้ในตอนแรก ซึ่งผู้ว่าจ้างจะต้องตรวจรับงานเป็นคราวๆไป ก่อนที่จะจ่ายเงินแก่ผู้รับเหมาเช่นกัน ซึ่งหากงานไม่เรียบร้อย ผู้ว่าจ้างก็จะแจ้งให้ผู้รับเหมาแก้ไขงานให้เสร็จเสียก่อนที่จะจ่ายเงินให้ แต่ในกรณีที่งานยังไม่แล้วเสร็จตามปริมาณที่ตกลงกันไว้ แต่ผู้ว่าจ้างกลับยินยอมให้ผู้รับเหมาเบิกเงินก่อนล่วงหน้า(หากเป็นกรณีที่ผู้ว่าจ้างมิได้ยินยอมให้ผู้รับเหมาเบิกล่วงหน้าแต่แรก แต่เป็นกรณีชำระเงินไปแล้ว แต่ผู้รับเหมาจงใจหลอกลวงเอาเงินจากผู้ว่าจ้างโดยไม่มีเจตนาจะทำงานให้เลยแต่แรก พฤติการณ์ดังกล่าวอาจเป็นความผิดอาญาฐานฉ้อโกง ซึ่งจะได้กล่าวในโอกาสต่อไป และในกรณีที่ผู้รับเหมาทำงานแล้วบางส่วน แต่ภายหลังทิ้งงาน ผู้ว่าจ้างก็อาจใช้สิทธิทางศาลเรียกร้องในกรณีผิดสัญญาในทางแพ่ง โดยการบอกเลิกสัญญาและเรียกให้ชดใช้ค่าเสียหายได้ ดังที่ได้เคยคุยกันมาในบทความก่อนๆแล้วนั้น)ในกรณีเช่นนี้ ย่อมถือได้ว่า เป็นความสมัครใจของคู่สัญญา ที่ผู้ว่าจ้างยินยอมชำระหนี้ของตนก่อนถึงกำหนดในแต่ละงวด และเมื่อผู้รับจ้างตกลงยอมรับเอา ก็มีผลเพียง ผู้ว่าจ้างได้ปฏิบัติการชำระหนี้ของตนครบถ้วนแล้ว เหลือเพียงการชำระหนี้ของฝ่ายผู้รับเหมาที่ต้องมาทำงานที่รับจ้างต่อให้เสร็จ โดยไม่เรียกเก็บเงินงวดที่ขอเบิกล่วงหน้าไปแล้วอีก ในการนี้ ตามบทบัญญัติกฎหมายในเรื่องสัญญาจ้างทำของ มิได้บังคับว่าจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ แต่อย่างไรก็ดี ในการจ่ายเงิน ควรให้ผู้รับเหมาที่เบิกเงินล่วงหน้า ลงลายมือชื่อรับเงินไว้เป็นลายลักษณ์อักษรโดยระบุถึงจำนวนเงินที่จ่าย วันที่จ่าย วิธีการจ่ายเงิน และรายละเอียดอื่นที่สำคัญ ซึ่งหากมีการจ่ายเงินผ่านบัญชีธนาคารย่อมเป็นการดีที่ข้อมูลทางบัญชีดังกล่าวจะเป็นหลักฐานอีกอย่างหนึ่งที่เข้ามาช่วยประกอบให้ชัดแจ้งว่า ได้มีการชำระเงินในส่วนนั้นจริง ซึ่งหลังจากให้เบิกล่วงหน้าแล้ว หากงานแล้วเสร็จ ก็คงไม่เกิดปัญหาใดๆ แต่หากงานไม่แล้วเสร็จโดยเรียบร้อยตามสัญญาถึงขนาดที่สามารถบอกเลิกสัญญาได้ ผู้ว่าจ้างก็ย่อมมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้ผู้รับเหมาคืนเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย และค่าเสียหายใดๆที่เกิดขึ้นได้เช่นกัน ทั้งนี้ ในความเป็นจริง มักต้องยุติด้วยการใช้สิทธิฟ้องร้องทางศาลเป็นคดีแพ่ง

ฉะนั้น คงต้องเลือกเอาว่า กรณีใดจะเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายตนมากกว่า โดยพิจารณาเหตุผลทั้งปวง เช่น พิจารณาฐานะของตนในขณะนั้นว่า ตนอยู่ในฐานะผู้ว่าจ้างหรือผู้รับเหมา ,ในสัญญาที่ตกลงกัน มีข้อตกลง หรือเงื่อนไขประการอื่นที่อาจทำให้ผลทางกฎหมายเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ ทั้งนี้ กฎหมายเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่หากท่านไม่แน่ใจ ควรจะปรึกษาจากผู้รู้ใกล้ตัว เพื่อที่ท่านจะมิได้เสียเปรียบในข้อกฎหมายเพียงเล็กน้อยไป อย่างน่าเสียดาย...”

นี่เป็นมุมมองของนักกฎหมาย เกี่ยวกับกรณีที่ ผู้รับเหมาขอเบิกเงินล่วงหน้า ว่าหากมันมีผลอย่างไรบ้างตามกฎหมาย และหากว่ามีปัญหาเกิดขึ้น จะสามารถดำเนินการอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรทราบเอาไว้ ทั้งในฝ่ายที่เป็นผู้ว่าจ้าง และตัวของ ผู้รับเหมา เอง เพื่อที่จะได้สามารถรักษาสิทธิของตนเองได้อย่างถูกต้องและไม่กลายเป็นผู้กระทำความผิดโดยไม่ได้ตั้งใจ... และดังที่กล่าวไปแล้ว กรณีการ เบิกเงินล่วงหน้า มีความผิดได้ทั้งแพ่งและอาญา โดยเฉพาะหาพิสูจน์ได้ว่า ผู้รับเหมาก่อสร้าง มีเจตนาที่จะขอเบิกเงินไปแล้วไม่ได้มีเจตนาจะทำงานให้ เรื่องนี้จะกลายเป็นความผิดอาญาฐานฉ้อโกง ได้เลยทีเดียว...

#ผู้รับเหมา #ผู้รับเหมาก่อสร้าง #ผู้รับเหมาเบิกเงินล่วงหน้า #ผู้รับเหมาเบิกเงิน
Share
8219