E-Fix ช่างด่วน
7 ปีที่แล้ว
มุมกฎหมาย ถ้าผู้รับเหมาขอยืมหรือเบิกล่วงหน้าควรทำอย่างไร 1

ในงาน รับเหมาก่อสร้าง ผู้ที่ว่าจ้างอาจจะได้พบกับ ผู้รับเหมา ที่บางครั้งไม่มีความพร้อมเต็มที่ในเรื่องของเงินทุนอยู่บ้างเป็นบางราย อาจจะมีกรณีขอเบิกเงินล่วงหน้าข้ามงวดงานตามปกติ หรือ... แม้แต่มาขอยืมเงิน... ซึ่งแน่นอนว่าหากต้องการที่จะให้งานการก่อสร้างดำเนินไปอย่างราบรื่น หรือ... แม้แต่ถ้าต้องการให้งานสามารถเริ่มต้นได้ ทางฝ่ายผู้ว่าจ้างก็จำเป็นที่จะต้องมาสนับสนุนเรื่องเงินทุนให้กับฝ่ายของ ผู้รับเหมาก่อสร้าง ในส่วนที่ขาดไป ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทำให้หลายๆ คนมีความกังวล ไม่อยากให้เกิดปัญหาในเรื่องเงินๆ ทองๆ ขึ้นมาในภายหลัง อาจจะเกิดปัญหารับเงินแล้วหายตัวไป หรือทำงานไม่เสร็จ ทิ้งงานค้างเอาไว้... ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้หลายครั้งในงานการก่อสร้าง และน่ากังวลใจ ว่าจะเสียทั้งเงินจะไม่ได้ทั้งงานก่อสร้างตามที่ต้องการ อันเป็นปัญหาที่ใหญ่มากและผู้ว่าจ้างหวั่นวิตก เราลองมาดูกันว่า ในมุมมองของนักกฎหมาย ผู้ว่าจ้างจะสามารถทำอย่างไรได้บ้าง...

ในการทำปัญหาเรื่องนี้ไปหารือกับนักกฎหมาย ได้ให้ความเห็นว่า ในเรื่องการ เบิกเงินล่วงหน้า กับ เรื่องของการยืมเงิน ที่เกิดขึ้นจาก ผู้รับเหมา มาร้องขอจากผู้ว่าจ้างนั้น ต้องแบ่งแยกออกจากัน เพราะมันเป็นคนละลักษณะกัน ดังนั้น เพื่อความชัดเจนเราจะมาดูกันทีละประเด็น ว่าในมุมมองของนักกฎหมายมีความเห็นว่า ผู้ว่าจ้างควรจะดำเนินการอย่างไรบ้าง...

คำถาม “ถ้าผู้รับเหมาขอยืมเงิน หรือเบิกเงินก่อนล่วงหน้าควรทำสัญญากู้ยืมหรือไม่หรือควรมีหลักฐานอย่างไรที่จะมีผลทางกฎหมาย ?”



ดังที่กล่าวมาแล้วว่า ประเด็นในการ ยืมเงิน กับ เบิกเงินล่วงหน้า ต้องแยกจากกัน เพราะเป็นคนละลักษณะ ดังนั้นในครั้งนี้เราจะจะขอยกเอาเฉพาะ เรื่องของการที่ ผู้รับเหมาก่อสร้าง ขอยืมเงิน มาอธิบายก่อน เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างชัดเจนสำหรับผู้ที่สนใจ เพราะบางครั้งมันเกิดความสับสนและเอามาปนกันในเรื่องการเบิกเงินล่วงหน้ากับการยืมเงินของ ผู้รับเหมา...

กรณีผู้รับเหมาขอยืมเงิน



“ คาดว่าปัญหานี้ ผู้ว่าจ้างหลายท่านคงจะเคยประสบปัญหากันอยู่บ่อยๆ หลายครั้งที่ผู้รับเหมาติดปัญหาเรื่องการเงิน และได้เข้ามาขอความช่วยเหลือจากผู้ว่าจ้าง ไม่ว่าด้วยวิธีการขอยืมเงิน หรือ ขอเบิกเงินล่วงหน้า ซึ่งหากมองเพียงผิวเผินจะพบว่าผลของวิธีการที่ผู้รับเหมาจะขอความช่วยเหลือในเรื่องการเงินจากผู้ว่าจ้างทั้งสองวิธีจะไม่ต่างกัน กล่าวคือ ผู้ว่าจ้างก็คง(จำใจ) ควักเงินให้ผู้รับเหมาไป ด้วยความกังวลว่า หากผู้รับเหมาติดขัดเรื่องการเงิน งานที่ตนว่าจ้างอาจไม่แล้วเสร็จ อย่างไรก็ตาม ในแง่มุมของกฎหมาย ผลของการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้รับเหมาทั้งสองวิธีต่างกันมาก ซึ่งในที่นี้ จะขอแยกพิจารณาอย่างชัดเจนเป็น 2 กรณี กล่าวคือ ผลของกรณี ‘การให้ผู้รับเหมายืมเงิน’ กับ กรณี ‘การให้เบิกเงินล่วงหน้า’ ดังนี้

กรณี ‘การให้ผู้รับเหมายืมเงิน’ การกู้ยืมเงินนั้นในทางกฎหมาย จะเรียกว่า เป็นนิติสัมพันธ์ตามสัญญากู้ยืมเงิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ว่า ผู้ให้กู้จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อฝ่ายผู้กู้เป็นสำคัญ จึงจะสามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้ ทั้งนี้ คำว่า ‘ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ’ ตามบทบัญญัติดังกล่าวนี้ ไม่จำเป็นต้องทำเป็นสัญญากู้เต็มรูปแบบก็ได้ เพียงมีเอกสารที่มีข้อความว่าผู้กู้ได้กู้ยืมเงินผู้ให้กู้ไป และลงลายมือชื่อของผู้กู้ไว้ เท่านี้ก็มีผลบังคับได้ตามกฎหมายแล้ว เช่น การที่ผู้กู้ (ผู้รับเหมา) เขียนโน้ตถึงผู้ว่าจ้างในทำนองว่าขอยืมเงินและลงชื่อผู้กู้ไว้ อย่างนี้ก็ใช้เป็นหลักฐานทางคดี เมื่อจะใช้สิทธิทางศาลได้แล้ว อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ว่าจ้างให้ผู้รับเหมา ยืมเงิน ในฐานที่เป็นสัญญากู้ยืมเงินนั้น ในทางกฎหมายย่อมไม่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ตามสัญญาว่าจ้างให้ก่อสร้าง หรือ ‘สัญญาจ้างทำของ’ ที่ผู้ว่าจ้างตกลงจ้างผู้รับเหมาทำงานให้ หนี้ที่ผู้รับเหมาในฐานะผู้กู้จะต้องปฏิบัติต่อผู้ว่าจ้างในฐานะผู้ให้กู้ตามสัญญากู้ยืมเงินนั้น คือการชำระเงินที่ยืมไปคืนแก่ผู้ว่าจ้าง โดยหลักแล้ว จะไม่สามารถตกลงกันชำระหนี้ด้วยวิธีอื่นได้ (แต่ก็พอจะมีข้อยกเว้นที่จะสามารถทำเช่นนั้นได้ ซึ่งจะได้กล่าวในโอกาสต่อไป) หากในวันถึงกำหนดชำระเงินตามสัญญากู้ ผู้รับเหมาไม่ชำระเงินคืนตามสัญญา ผู้ว่าจ้างก็คงต้องอาศัยบารมีศาลในการฟ้องเป็นคดีแพ่ง เรียกร้องจากผู้รับเหมาในฐานะผู้กู้เท่านั้น ไม่อาจบังคับปะปนกับสัญญาว่าจ้างก่อสร้างได้มิฉะนั้น ผู้ว่าจ้างอาจเป็นฝ่ายผิดสัญญาว่าจ้างเสียเองที่ไม่ชำระค่าว่าจ้าง ทั้งนี้ เนื่องจากทั้งสองสัญญาผลในทางกฎหมายแยกจากกันและต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งย่อมสุดแล้วแต่คู่สัญญาว่า มีเจตนาแท้จริงจะบังคับให้เป็นไปตามสัญญาใด “

นี่คือความเห็นของนักกฎหมาย ที่ได้ให้คำแนะนำเอาไว้ ซึ่งในเราจะเห็นได้ว่า การที่ ผู้รับเหมา ขอยืมเงินจากผู้ว่าจ้าง แม้จะเป็นเรื่องที่ดูเหมือนเกี่ยวพันกับงาน รับเหมาก่อสร้าง ที่เขาทำอยู่ แต่ในความเป็นจริงในทางกฎหมาย เรื่องนี้ก็คือ การขอกู้ยืมเงิน ซึ่งแยกต่างหากจากเรื่องของการทำงาน วิธีการที่จะต้องดำเนินการในกรณีเกิดปัญหา ก็เป็นเรื่องของการกระทำเกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน สัญญาที่เกิดขึ้นเป็นการว่าด้วยเรื่องการกู้ยืมและการชดใช้ หรือเรื่องการผิดสัญญาการยืมเป็นหลัก ไม่จำเป็นต้องนำมาผูกพันในเรื่องของการทำงาน....

แถมท้ายเล็กน้อย เกี่ยวกับเรื่องหลักฐานในการขอยืมเงินที่มีผลทางกฎหมายนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องออกมาในรูปแบบของสัญญาหรือมีแบบฟอร์มอย่างเต็มรูปแบบก็ได้ แม้จะเป็นการเขียนในเศษกระดาษ หรือ มีข้อความอื่นๆ ก็ถือว่าใช้เป็นหลักฐานได้ (แต่จะต้องมีสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ก็คือ ลายมือชื่อ หรือก็คือ ลายเซ็นต์ ของผู้กู้ เขียนลงไว้ในหลักฐานชิ้นนั้น) ข้อความทางอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็น Line , email หรือข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ ก็สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานได้ (หากได้ปฎิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะกล่าวถึงในคราวต่อไป...) อยู่ที่การพิสูจน์ให้เห็นข้อเท็จจริงได้ว่ามีการขอกู้ยืมเงินเกิดขึ้นจริง ระหว่าง ผู้รับเหมา และ ผู้ว่าจ้าง และตัวของผู้ว่าจ้างเองก็ต้องระวัง ไม่ให้กลายเป็นผู้ผิดสัญญาในการก่อสร้างเสียเองจากการเอาเรื่องการขอยืมเงินมาปนกับเรื่องของการเบิกเงินในงาน รับเหมาก่อสร้าง

#รับเหมาก่อสร้าง #ผู้รับเหมา #ผู้รับเหมาก่อสร้าง #ผู้รับเหมาขอเบิกเงินก่อน #ผู้รับเหมาขอยืมเงิน
Share
3517