sun
8 ปีที่แล้ว
สิทธิของเราผู้ประกันตน รู้กันหรือยัง?

เงินประกันสังคม เป็นเงินที่ลูกจ้างทุกคนต้องจ่ายเพราะเป็นกฏหมายบังคับ นอกจากลูกจ้างต้องจ่ายแล้ว นายจ้างและรัฐบาลก็ช่วยสมทบในอัตราที่ลูกจ้างต้องจ่ายด้วย นอกจากเราจะใช้สิทธิเมื่อเราเจ็บป่วยแล้ว รู้หรือไม่ว่า เราในฐานะผู้ประกันตนยังมีสิทธิอื่น ที่เราอาจละเลยไป

สิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคม
1. กรณีเจ็บป่วย
ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินเข้าประกันสังคมมาแล้วอย่างน้อย 3 เดือนภายใน 15 เดือน จะมีสิทธิรักษาในโรงพยาบาลที่รับรองไว้ในบัตรประกันสังคมฟรี (ยกเว้น อุบัติเหตุฉุกเฉิน หากเข้ารักษากับโรงพยาบาลอื่นที่ไม่ได้รับรองไว้จะต้องสำรองจ่ายไปก่อนแล้วจึงจะมาทำเรื่องขอเบิกคืนในภายหลัง)


2. กรณีทุพพลภาพ
เมื่อผู้ประกันตนที่จ่ายเงินเข้าประกันสังคมมาแล้วอย่างน้อย 3 เดือนภายใน 15 เดือน ก่อนเดือนที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดให้เป็นผู้พิการทุพพลภาพ และเจ็บป่วยหรือได้รับอุบัติเหตุจนถึงขั้นทุพพลภาพไม่สามารถทำงานได้อีกแล้ว จะมีสิทธิได้รับการชดเชยรายได้ร้อยละ 50%ของค่าจ้างเฉลี่ยที่ได้แจ้งไว้ตลอดชีวิต และจะได้รับค่ารักษาพยายาลตามจริง (รวมแล้วต้องไม่เกิน 2,000 บาทต่อเดือน นอกนั้นรับผิดชองเอง)


3. กรณีเสียชีวิต
เมื่อผู้ประกันตนจ่ายเงินเข้าประกันสังคม 1 เดือนขึ้นไปภายใน 6 เดือน ทายาทมีสิทธิขอรับค่าทำศพได้ 40,000 บาท และเงินสงเคราะห์ตามระยะเวลาที่จ่ายเงินเข้าประกันสังคม


4. กรณีคลอดบุตร
เมื่อผู้ประกันตน(ผู้หญิง)จ่ายเงินเข้าประกันสังคม 7 เดือนขึ้นไปภายใน 15 เดือน มีสิทธิได้รับเงิน 12,000 บาท และเงินสงเคราะห์เพื่อการคลอดบุตร


5. กรณีสงเคราะห์บุตร
เมื่อผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน สิทธิที่ท่านจะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเหมาจ่ายเดือนละ 400 บาทต่อบุตรหนึ่งคน
สำหรับบุตรชอบด้วยกฎหมาย ยกเว้น บุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นและบุตรมีอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์
เงื่อนไขที่ได้รับกรณีสงเคราะห์บุตร
เงินสงเคราะห์บุตร สำหรับบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีอายุแรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จำนวนคราวละไม่เกิน 2 คน (บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวไม่รวมถึงบุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งได้ยกให้ เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น)
ผู้ประกันตนมี สิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรสำหรับบุตรซึ่งมีอายุไม่เกิน 6 ปีบริบูรณ์ เว้นแต่ผู้ประกันตนเป็นผู้ทุพพลภาพหรือถึงแก่ความตาย ในขณะที่บุตรมีอายุแรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนต่อจนอายุ 6 ปีบริบูรณ์

การหมดสิทธิรับเงินกรณีสงเคราะห์บุตร
- เมื่อบุตรมีอายุครบ 6 ขวบปีบริบูรณ์
- บุตรเสียชีวิต
- ยกบุตรให้เป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่น
- ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง


6. กรณีชราภาพ
เงื่อนไขการเกิดสิทธิกรณีบำนาญชราภาพ
- จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า180 เดือน ไม่ว่าระยะเวลา 180 เดือนจะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม
- มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
- ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
เงื่อนไขการเกิดสิทธิกรณีบำเหน็จชราภาพ
- จ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน
- ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
- มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ หรือเป็นผู้ทุพพลภาพ หรือถึงแก่ความตาย

ประโยชน์ทดแทนกรณีบำนาญชราภาพ
- กรณีจ่ายเงินสมทบ มาแล้ว ไม่น้อยกว่า 180 เดือน มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือนใน อัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้น สุดลง
- กรณีที่มีการจ่าย เงินสมทบเกิน 180 เดือน ให้ปรับเพิ่มอัตราบำนาญชราภาพตามข้อ 1 ขึ้นอีกในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อ ระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบทุก 12 เดือน สำหรับระยะเวลาที่จ่ายเงินสมทบเกินกว่า 180 เดือน

ประโยชน์ทดแทนกรณีบำเหน็จชราภาพ
- กรณีที่มีการจ่าย เงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพ มีจำนวนเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ เพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ กรณีที่มีการจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพ มีจำนวนเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายเงินสมทบ เพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ พร้อมผลประโยชน์ตอบแทน ตามที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด
- กรณีผู้รับเงิน บำนาญชราภาพถึงแก่ความตายภายใน 60 เดือน นับแต่เดือนที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับคราวสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย


7. กรณีว่างงาน

หลักเกณฑ์ที่จะทำให้ท่านมีสิทธิ คือ เมื่อผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน (ถูกเลิกจ้างหรือลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา) โดยไม่มีความผิดตามกฎหมาย

เงื่อนไขการเกิดสิทธิ
ต้องขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานที่สำนักงานจัดหางานของรัฐภายใน 30 วันนับแต่วันที่ว่างงาน โดยไม่ต้องรอหนังสือรับรองการออกจากงาน เพื่อเป็นการแสดงสิทธิ์ในเบื้องต้น
มีความสามารถในการทำงานและพร้อมที่จะทำงานที่เหมาะสมตามที่จัดหาให้
ต้องไม่ปฏิเสธการฝึกงาน
ต้องรายงานต่อเจ้าหน้าที่สำนักจัดหางานไม่น้อยกว่าเดือนละ 1 ครั้ง
ผู้ที่ว่างงานต้องไม่ถูกเลิกจ้างเนื่องจากกรณี มีดังนี้
- ทุจริตต่อหน้าที่กระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
- จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
- ฝ่าฝืนข้อบังคับ หรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายในกรณี ร้ายแรง
- ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 7 วันทำงานติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุอันควร
- ประมาทเลินล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
- ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา
- ต้องมิใช่ผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ
มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนเริ่มตั้งแต่วันที่ 8 นับแต่วันว่างงานจากการทำงานกับนายจ้างรายสุดท้าย
- ไม่เป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจตามมาตรา 39
สิทธิที่ท่านจะได้รับประโยชน์ทดแทน
กรณีถูกเลิกจ้าง
ได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ตัวอย่างเช่น ผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 5,000 บาท
กรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา
ได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ตัวอย่างเช่น ผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 3,000 บาท
เมื่อผู้ประกันตนสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน (ลาออก) สามารถใช้สิทธิประกันสังคมต่อได้อีก 6 เดือน โดยมิต้องเสียค่าใช้จ่าย (กรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพและกรณีเสียชีวิต)
ประโยชน์ทดแทนทุกกรณีเมื่อมีสิทธิต้องยื่นเรื่องรับเงินภายใน 1 ปี เว้นแต่ กรณีว่างงานผู้ประกันตนจะต้องยื่นขึ้นทะเบียนว่างงานที่สำนักงานจัดหางานของรัฐ ต้องยื่นสิทธิภายใน 30 วัน หลังจากถูกเลิกจ้างหรือลาออกจากงาน หากยื่นสิทธิเกินกว่า 30 วัน จะไม่ได้รับสิทธิย้อนหลัง และหากยื่นสิทธิเกินวันที่จะได้รับสิทธิไปแล้ว จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน
หมายเหตุ ในกรณียื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเพราะเหตุถูกเลิกจ้าง หรือเหตุถูกเลิกจ้างและลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างเกินกว่า 1 ครั้ง ภายใน 1 ปีปฏิทิน ให้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนทุกครั้ง รวมกันไม่เกิน 180 วัน แต่ในกรณียื่นขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเพราะเหตุลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง เกินกว่า 1 ครั้ง ภายใน 1 ปีปฏิทิน ให้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนรวมกันไม่เกิน 90 วัน
หลักฐานที่ต้องใช้เพื่อขอรับประโยชน์ทดแทน กรณีว่างงาน
1. แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส. 2-01/7)
2. บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
3. รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว 1 รูป (ถ่ายไม่เกิน 6 เดือน)
4. หนังสือรับรองการออกจากงานหรือสำเนาแบบแจ้งการลาออกจากงานของผู้ประกันตนออกจากงานของผู้ประกันตน (สปส. 6 -09) กรณีที่ไม่มีสำเนา สปส.6-09 ก็สามารถไปขึ้นทะเบียนกรณีว่างงานได้
5. หนังสือหรือคำสั่งของนายจ้างให้ออกจากงาน (ถ้ามี)
6. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรกซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ประกันตน ผ่าน 9 ธนาคาร ดังนี้
1) ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) KTB
2) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) BAY
3) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) BBL
4) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) SCB
5) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) KBANK
6) ธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน) TMB
7) ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) TBANK
8) ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) CIMB
9) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย IBANK
ขั้นตอนและวิธีการขอรับประโยชน์ทดแทน
ต้องไปขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานที่สำนักจัดหางาน
กรอกแบบฟอร์มใบขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงาน พร้อมด้วยหลักฐานดังนี้
บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว 1 รูป (ถ่ายไม่เกิน 6 เดือน)
กรอกแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน พร้อมด้วยหลักฐานดังนี้
หนังสือรับรองการออกจากงาน หรือสำเนาแบบแจ้งการออกจากงาน (สปส 6-09) หรือ หนังสือหรือคำสั่งของนายจ้างที่ให้ออกจากงาน สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรกที่มีชื่อและเลขที่บัญชี
เมื่อคุณสมบัติครบถ้วน สำนักงานประกันสังคมทำการโอนเงินทดแทนการขาดรายได้ตามสิทธิให้ผู้ประกันตน ผ่านทางบัญชีธนาคารของผู้ประกันตน เดือนละ 1 ครั้ง
หากผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนไม่พอใจคำสั่งจ่ายประโยชน์ทดแทน สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง
สำหรับผู้ประกันตนต่างด้าว
สำนักงานประกันสังคม ได้จัดทำแนวปฏิบัติการพิจารณาวินิจฉัยประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานสำหรับผู้ประกันตนต่างด้าว
หลักเกณฑ์และเงื่อนไข
ผู้ประกันตนต่างด้าวต้องมีการนำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยยกว่า 6 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนการว่างงาน
ไม่เป็นผู้มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ (อายุยังไม่ครบ 55 ปีบริบูรณ์) เป็นผู้ว่างงาน
เนื่องจากนิติสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างตามสัญญาสิ้นสุดลง
การพิจารณาคุณสมบัติของผู้ประกันตนต่างด้าว
ตรวจสอบหลักฐานและข้อเท็จจริงการได้รับอนุญาตให้พำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เช่น หลักฐานที่ได้รับอนุญาตให้พำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทย (Visa) วันสิ้นสุดของใบอนุญาตการทำงานหลักฐานใบแจ้งยกเลิกการอนุญาตทำงาน ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางานรรับรอง ฯลฯ หากพบว่าผู้ประกันตนไม่ได้รับอนุญาตให้พำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทย ให้พิจารณาปฏิเสธการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานตั้งแต่วันที่หลักฐานการได้รับอนุญาตให้พำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทย (Visa) สิ้นสุดลง
กรณีที่ได้รับแจ้งจากสำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่/สำนักงานจัดหางานจังหวัด/สาขา ว่าผู้ประกันตนต่างด้าวปฏฺิเสธการทำงานให้พิจารณาปฏิเสธการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานตั้งแต่วันที่นายจ้างแสดงความประสงค์ว่าจ้างให้ผู้ประกันตนต่างด้าวทำงาน
กรณีผู้ประกันตนต่างด้าวได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ครบถ้วนแล้ว และมีสิทธิได้รรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานแต่ได้เดินทางออกจากประเทศไทย ให้ถือว่าผู้ประกันตนต่างด้าวมีสิทธิได้รับเงินประโยชน์ทดแทนนั้น ส่วนการสั่งจ่ายเงินประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานให้ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติของสำนักงานประกันสังคม

#สำนักงานบัญชี
Share
2564
บทความอื่นๆ
บทความอื่นๆ