E-Fix ช่างด่วน
7 ปีที่แล้ว
เหล็กเต็มเหล็กไม่เต็ม ผู้รับเหมา ต้องอธิบายเจ้าของบ้านก่อนซื้อวัสดุ

คุณภาพของวัสดุก่อสร้างเป็นหนึ่งในเรื่องที่ ผู้รับเหมา มักโดนเจ้าของบ้านจับตามองว่าจะมีการเลือกใช้วัสดุก่อสร้างอย่างไร เพราะมักมีการเล่าลือกันว่า ผู้รับเหมา ชอบแอบเอาวัสดุที่ไม่ได้ขนาด หรือมีคุณภาพไม่ค่อยดีมาปนใช้ในการทำงาน ! แม้ว่าจะเป็นส่วนน้อย แต่ข่าวร้ายย่อมลือง่ายและเล่าสนุกปากกว่าข่าวดีๆ เสมอ ! บางทีก็ทำให้ ผู้รับเหมา ที่ดีทำงานลำบาก และบางครั้งการใช้วัสดุที่ลดคุณภาพลงก็ไม่ได้เกิดจาก ช่าง หรือ ผู้รับเหมาก่อสร้าง ฝ่ายเดียว ! แต่เกิดจากตัวของเจ้าของบ้านเองก็เป็นไปได้ !

เพราะเจ้าของบ้านเองก็มีบางรายเหมือนกันที่ต้องการลดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ให้ช่าง หรือ ผู้รับเหมา หาทางลดราคาให้ซึ่งมันก็ไม่ใช่เรื่องเป็นไปไม่ได้ในงานช่างที่เราจะทำงานออกมาให้ราคาต่ำลง เพียงแต่ว่ามันก็จะต้องไปลดที่ค่าวัสดุบางอย่าง ซึ่งบางทีเจ้าของบ้านก็ไม่ถามว่าต้องเปลี่ยนวัสดุอะไร เอาแค่ตัวบ้าน หรือสิ่งก่อสร้างออกมาในหน้าตาที่เขาต้องการก็พอแล้ว... ซึ่งนี่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ! และเชื่อว่าเป็นปัญหาที่ช่างหรือ ผู้รับเหมา หลายๆ รายต้องเจอกันอยู่บ่อยๆ และหนึ่งในเรื่องที่พูดถึงกันเสมอ และเป็นกรณีศึกษาที่สมควรที่ช่าง หรือ ผู้รับเหมา ควรพิจารณาก็คือ เรื่องของ “เหล็ก” ที่เราเอามาใช้ในงานการก่อสร้าง เนื่องจากว่า เหล็กเส้นที่มีขายในท้องตลาดมีอยู่ 2 ประเภท ที่มีให้เลือกซื้อกัน นั่นก็คือ เหล็กเต็ม กับ เหล็กไม่เต็ม !

ซึ่งเรื่องนี้ ผู้รับเหมา ต้องอธิบายชี้แจงให้เจ้าของบ้านเข้าใจก่อนที่จะมีการสั่งเหล็กเข้ามาหน้างาน ว่าเหล็กที่เหมาะสมในการใช้งานเป็นแบบไหน งานไหนสามารถใช้เหล็กไม่เต็มได้บ้าง เพราะเรื่องนี้เกี่ยวกับราคาวัสดุเป็นอย่างมาก เหล็กไม่เต็มมีราคาที่ถูกกว่า เนื่องจากมีขนาดเล็กกว่า แต่ก็แน่นอนว่าความแข็งแรงน้อยกว่าด้วยเช่นกัน หากเป็นงานที่ต้องใช้รับน้ำหนัก ต้องการความแข็งแรงมาก ต้องแนะนำให้เจ้าของบ้านใช้เหล็กเต็ม หรือเหล็กที่ได้มาตรฐาน แต่หากว่าเจ้าของบ้านอยากลดค่าใช้จ่าย ก็ต้องบอกให้เขาทราบว่า เหล็กไม่เต็มพอจะเอาไปใช้ในจุดไหนที่ไม่ต้องรับแรงมากได้บ้าง

และในกรณีเกิดความไม่มั่นใจของเจ้าของบ้าน ในเรื่องของเหล็กเส้น คือ เจ้าของบ้านเกิดไม่เชื่อใจว่าเราเอาเหล็กเต็มมาใช้หรือเปล่า เราต้องสามารถพิสูจน์ให้เห็นได้ โดย...

1. ให้ดูที่รอยปั้ม ซึ่งเหล็กเต็มที่ได้มาตรฐานจะมี มอก. และ ตัวอักษร ปรากฏอยู่บนผิวเหล็กชัดเจน เหล็กเส้นกลม จะมี มอก.และ ตัวอักษร SR 24 และ เหล็กข้ออ้อย จะมี มอก. และตัวอักษร SD 30 หรือ SD 40

2. ตัดเหล็กเส้นออกมาชั่งน้ำหนักให้เจ้าของบ้านดู เทียบกับตารางมาตรฐานของเหล็กเส้น เช่น เหล็กเส้นกลม SR 24 ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 มม. ขนาดยาว 1 เมตร จะมีน้ำหนักอยู่ที่ 0.222 กิโลกรัม (กรณีชั่งทั้งเส้น ที่ยาว 10 เมตร ก็จะมีน้ำหนักอยู่ที่ 2.22 กิโลกรัม)

เรื่องวัสดุ ผู้รับเหมา ต้องให้ความชัดเจน และทำความเข้าใจกับเจ้าของบ้านก่อนในเรื่องของคุณสมบัติกับราคา อย่าเอาใจเจ้าของบ้านด้วยเรื่องราคาเพียงอย่างเดียว โดยไม่อธิบายให้ชัดเจนว่า... หากต้องการราคาที่ต่ำมันต้องเปลี่ยนวัสดุ ! ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาตามมาในภายหลัง จะเสียชื่อเสียงของช่าง หรือ ผู้รับเหมา โดยใช่เหตุ !

#ผู้รับเหมา #รับเหมาก่อสร้าง #เหล็กเส้น #เหล็กเต็ม เหล็กไม่เต็ม #ผู้รับเหมาก่อสร้าง
Share
4649
บทความอื่นๆ
บทความอื่นๆ