E-Fix ช่างด่วน
6 ปีที่แล้ว
มุมกฎหมาย สัญญาช่าง ทำยากไหม ทำอย่างไรเมื่อช่างต้องร่างสัญญา

การทำสัญญา เป็นเรื่องที่ควรกระทำเมื่อเกิดการว่าจ้างให้ช่างเข้าไปทำงาน เรื่องนี้เป็นที่ทราบกันดี ทั้งทางฝ่ายเจ้าของบ้าน ผู้ว่าจ้าง และฝ่ายช่างที่เป็นคู่สัญญาในการเข้าไปให้บริการ ทั้งนี้เพื่อให้มีหลักฐานชัดเจนในข้อตกลง และขอบเขตงานว่า ช่างได้รับการว่าจ้างให้ดำเนินการในส่วนใดบ้าง ช่วยทำให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น ป้องกันการเกิดปัญหาจากความเข้าใจผิด หรือ เกิดกรณีผิดพลาดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเอาเปรียบมากเกินกว่าที่ได้ตกลงกันไว้ อย่างไรก็ดีแม้จะเป็นที่ทราบและเข้าใจว่า สัญญาช่าง เป็นเรื่องจำเป็น แต่ก็มีหลายครั้งที่ไม่มีการทำ สัญญาช่าง หรือ สัญญาว่าจ้างทำงานกันขึ้น ส่วนใหญ่เกิดจากความรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องยุ่งยากวุ่นวาย หรือไม่เข้าใจว่าจะต้องทำอย่างไร ดังนั้น houzzMate จึงได้นำเอาเรื่องนี้ไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย เพื่อขอคำแนะนำมาให้กับผู้ที่ต้องการทำสัญญา ว่าควรจะต้องดำเนินการอย่างไร จึงจะได้เอกสาร สัญญาช่าง หรือ สัญญาว่าจ้างให้ทำงานที่ถูกต้องเหมาะสม และมีผลทางกฎหมายอย่างที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะทางฝ่ายช่าง ที่โดยมากมักไม่ถนัดในด้านนี้มากนัก จะได้เข้าใจและดำเนินการได้อย่างเหมาะสม ไม่ผิดพลาดและได้รับประโยชน์จากการคุ้มครองของกฎหมายอย่างสมบูรณ์...

ทำอย่างไรเมื่อช่างต้องร่างสัญญา



ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย :


“ดังที่ได้เคยกล่าวมาในบทความก่อนๆ แล้วว่า  โดยทั่วไปนั้นข้อตกลงว่าจ้างระหว่างผู้ว่าจ้างกับช่าง ส่วนมากมักเป็นข้อตกลงที่ผูกพันทางกฎหมายตาม สัญญาจ้างทำของ ที่หวังผลสำเร็จของชิ้นงาน สาระสำคัญของสัญญานี้มุ่งหวังเพียงผลงานที่ช่างต้องทำให้แล้วเสร็จดังที่ได้ตกลงกับผู้ว่าจ้าง  ทั้งนี้ อาจมีข้อตกลงเรื่องกำหนดเวลาส่งมอบงานด้วยหรือไม่ก็ได้  ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะจ้างทำของนั้น มิได้มีบทบังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือแต่ประการใด แต่เพื่อให้เกิดความมั่นใจ และป้องกันปัญหาเกี่ยวกับความเข้าใจที่อาจคลาดเคลื่อน ไม่ตรงกันระหว่างผู้ว่าจ้างกับช่าง ก็ควรมีหลักฐานเป็นหนังสือไว้  เมื่อเป็นเช่นนี้ หากช่างต้องการมีหลักฐานโดยการทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรจะทำเช่นไรได้บ้าง ช่างสามารถทำสัญญาเอง ได้ไหม  เช่นนี้ หากจำเป็นและรายละเอียดของงานและข้อตกลง ไม่ซับซ้อนมาก ช่างสามารถทำได้ โดยในสัญญาต้องมีรายละเอียดที่สำคัญดังนี้

1.    สถานที่ และ วัน เดือน ปี ที่ทำสัญญา  ควรเป็นวันที่ตกลงกันตามความเป็นจริง เพราะหากระบุคลาดเคลื่อนไป เช่น ระบุวันย้อนหลัง อาจเป็นผลร้ายในทางกฎหมายเกี่ยวกับอายุความได้ หากในภายหน้ามีความจำเป็นต้องฟ้องร้องเป็นคดีความต่อศาล

2.    ชื่อ สกุล อายุ เลขบัตรประจำตัวประชาชน และ ที่อยู่ ของทั้งสองฝ่าย

3.    รายละเอียดที่สำคัญในสัญญา เช่น คู่สัญญาว่าจ้างกันให้ทำสิ่งใด มีรายละเอียดเกี่ยวกับงานที่สำคัญในเรื่องใดบ้าง เช่น คุณภาพ ประเภท ของวัสดุอุปกรณ์ ใครมีหน้าที่อะไร กำหนดเวลาส่งมอบงาน ฯลฯ  

4.    รายละเอียดเกี่ยวกับการชำระค่าตอบแทน  กล่าวคือ ว่าจ้างกันเท่าไร มีวิธีการชำระเงินอย่างไร ชำระทั้งก้อน หรือแบ่งชำระ  หากแบ่งชำระ แบ่งเป็นกี่งวด มีกำหนดเมื่อใด ในวันทำสัญญาได้มีการชำระเงินกันแล้วหรือไม่ ควรระบุให้ชัดเจนตามความเป็นจริง

5.    ลายมือชื่อของทั้งสองฝ่าย  หากฝ่ายใดเป็นนิติบุคคลก็ต้องตรวจสอบด้วยว่าตามหนังสือจัดตั้งนิติบุคคลนั้น กำหนดให้ผู้ใดเป็นผู้มีอำนาจลงนาม และต้องประทับตราหรือไม่

 ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นรายละเอียดพื้นฐานที่ต้องมีในสัญญา หาก ผู้ว่าจ้าง หรือ ช่าง จำเป็นต้องทำสัญญาเอง  แต่ในกรณีที่สัญญาหรือข้อตกลงระหว่างกันมีความซับซ้อน  มูลค่าของงานมีราคาสูง หรือ ทั้งสองฝ่ายมิได้ลำบากหากจะพบและปรึกษานักกฎหมายหรือทนายความ ก็ควรปรึกษานักกฎหมายหรือทนายความ ย่อมจะเป็นการปลอดภัยในการทำสัญญามากกว่าแน่นอน”



นี่เป็นความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย ที่น่าจะเป็นแนวทางช่วยให้ทำ สัญญาช่าง ได้ถูกต้องเหมาะสมมากยิ่งขึ้น ซึ่งองค์ประกอบสำคัญก็มีอยู่ 5 ข้อ สรุปง่ายๆ ก็คือ ใน สัญญาช่าง ที่จะทำขึ้นนั้นต้องมี สถานที่และวัน เดือน ปี ที่ทำสัญญา , ชื่อ สกุล อายุ เลขบัตรประจำตัวประชาชนและที่อยู่ของทั้งสองฝ่าย , รายละเอียดที่สำคัญในสัญญา , รายละเอียดเกี่ยวกับการชำระค่าตอบแทน  และ ลายมือชื่อของทั้งสองฝ่าย  ซึ่งหากมีองค์ประกอบครบถ้วนตามนี้ ก็เป็นที่เชื่อมั่นได้ว่าเป็นสัญญาที่มีผล และใช้งานได้อย่างเป็นธรรมตามข้อตกลงของทั้งสองฝ่าย ช่างที่กังวลใจในเรื่องการทำสัญญาด้วยตนเอง ก็น่าจะพอทราบเป็นแนวทาง แต่อย่างไรก็ดี หากรายละเอียดที่ตกลงกันมีมาก มีความซับซ้อน หรือ มีมูลค่าสูง การปรึกษานักกฎหมายที่มีความเชี่ยวชาญก็เป็นทางเลือกที่เหมาะสม และวางใจได้ในการทำ สัญญาช่าง ของเรา

#สัญญาช่าง #สัญญาว่าจ้าง #กฎหมาย #การทำสัญญา
Share
3185