E-Fix ช่างด่วน
7 ปีที่แล้ว
มุมกฎหมาย เรื่อง ผู้รับเหมา รับเงินงวดสุดท้ายแล้วแต่ไม่ยอมทำงานทำไงดี


เสียงบ่นว่า “ผู้รับเหมาทิ้งงาน” ดูเหมือนเป็นปัญหาใหญ่ ที่เกิดขึ้นบ่อยมาก และอาจจะพูดได้ว่าเป็นสาเหตุหลักเลยทีเดียวที่นำมาซึ่งความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจที่เกิดขึ้นกับ ผู้รับเหมา... แม้ว่าในความเป็นจริงอาจจะมี ผู้รับเหมาก่อสร้าง เพียงไม่กี่รายที่ก่อปัญหาเรื่องการทิ้งงานขึ้น แต่เนื่องจากมูลค่าของงานในการก่อสร้างมีมูลค่าสูงมันจึงเป็นเรื่องที่ใหญ่ และเรื่องร้ายก็ลือได้ไกลกว่าเรื่องดีๆ มาก และเราสามารถเจอเรื่องทำนองนี้ได้ง่ายๆ เพียงแค่ค้นหาปัญหาเกี่ยวกับ ผู้รับเหมา ใน internet หรือตาม เว็บบอร์ดบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ หรือ... แม้แต่แค่เข้าไปเพื่อเจตนาจะ หาช่าง หรือ หาผู้รับเหมา สักรายมาทำงานให้ ก็มักจะได้พบเห็นเจ้าของบ้านหรือผู้ว่าจ้างมาบ่นเรื่องการทิ้งงานเป็นจำนวนมาก... เรื่องนี้จึงเชื่อได้ว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่มากในแวดวงงานก่อสร้าง... และเมื่อเป็นปัญหาก็ต้องหาทางแก้ไข ซึ่งหนึ่งในแนวทางที่จะทำให้เกิดความเป็นธรรมได้ก็คือ การใช้กฎหมายเข้ามาช่วย...

และการทิ้งงานที่ก่อปัญหาน่าปวดหัวก็คือ การทิ้งงานในส่วนสุดท้าย ทำให้งานที่ควรจะเสร็จก็ไม่เสร็จ แถมส่วนมากที่เล่าขานกันก็คือ ปัญหานี้จะเกิดเมื่อได้ทำการเบิกเงินงวดสุดท้ายไปแล้วจึงจะมีอาการ “ผู้รับเหมาไม่ยอมมาทำงาน” แน่นอนว่าทำให้เกิดความเสียหาย และที่เจ้าของบ้านต้องการก็คือ การหาทางแก้ไข เพื่อให้งานที่ดูเหมือนจะเสร็จอยู่แล้วให้มันเสร็จสมบูรณ์ลงเสียทีไม่ค้างๆ คาๆ อยู่แบบนั้น เพราะฉะนั้นคำถามส่วนใหญ่ที่เราพบเห็นกันก็มักจะเป็นประโยคทำนองที่ว่า ถ้า ผู้รับเหมา ไม่มาทำงานจะทำอย่างไร... ซึ่งเรื่องนี้เราลองมาดูในมุมมองของนักกฎหมายกันว่า เราจะสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง

ปัญหางาน รับเหมาก่อสร้าง ในมุมมองความเห็นจากนักกฎหมาย




คำถาม : ผู้รับเหมารับเงินงวดสุดท้ายแล้วไม่ยอมเข้ามาทำงานจะทำอย่างไรดี ?


ความเห็นนักกฎหมาย :

“หลายๆครั้งที่เราต้องพบกับปัญหา ผู้รับเหมารับเงินงวดสุดท้ายแล้วไม่ยอมเข้าทำงาน เป็นเหตุให้งานไม่สำเร็จตามกำหนดเวลา ในกรณีเช่นนี้ ต้องพิจารณาเสียก่อนว่า เหตุที่ผู้รับเหมาไม่ยอมเข้าทำงานนั้น เกิดเพราะเหตุใด ซึ่งหากเป็นเหตุเพราะความผิดของฝ่ายผู้ว่าจ้างที่ไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามสัญญาเสียก่อน เช่น ในบางกรณี ผู้ว่าจ้างและผู้รับเหมามีข้อตกลงในสัญญาว่า ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้จัดหาวัสดุ อุปกรณ์ในการก่อสร้าง ให้พร้อมเมื่อผู้รับเหมาจะเข้าทำงาน หรือ ผู้ว่าจ้างจะเป็นฝ่ายจัดการเรื่องการขนส่งวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ แต่กลับมิได้ดำเนินการดังกล่าว ในทางกฎหมายย่อมถือได้ว่า ผู้ว่าจ้างเป็นเจ้าหนี้ที่ไม่อยู่ในฐานะอันจะพร้อมรับชำระหนี้ เช่นนี้ เจ้าหนี้หรือผู้ว่าจ้างจะต้องดำเนินการต่างๆให้พร้อมเพื่อให้ผู้รับเหมาเขาสามารถปฏิบัติการชำระหนี้แก่เราได้

ในขณะเดียวกัน หากปรากฏว่า ผู้ว่าจ้างได้ดำเนินการเพื่อเตรียมพร้อมแก่การรับชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว เป็นต้นว่า ได้จัดหายานพาหนะสำหรับขนส่งไว้เรียบร้อยแล้ว หรือได้จัดหาวัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้างไว้แล้ว หรือในข้อสัญญา ไม่ไม่ข้อตกลงให้ผู้ว่าจ้างต้องดำเนินการดังกล่าว เมื่อผู้รับเหมาไม่ยอมเข้าทำงาน ย่อมถือได้ว่า ผู้รับเหมาตกเป็นลูกหนี้ผิดนัด เป็นผลให้ผู้ว่าจ้างสามารถใช้สิทธิทางศาลฟ้องผู้รับเหมาเป็นคดีแพ่งฐานผิดสัญญา เรียกให้ผู้รับเหมาเข้าดำเนินการทำงานให้เสร็จได้ อย่างไรก็ดีในความเป็นจริง การเรียกร้องให้ผู้รับเหมากลับมาทำงานให้แล้วเสร็จนั้นเป็นเรื่องยาก หรือแทบไม่มีโอกาสเป็นไปได้เลย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ได้เปิดช่องให้ผู้ว่าจ้างสมารถจ้างบุคคลอื่นเข้ามาทำงานให้เสร็จได้ โดยผู้รับเหมาจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในค่าจ้างดังกล่าว นอกจากนี้ ผู้ว่าจ้างยังสามารถเรียกร้องค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยอันเนื่องมาจากการที่ผู้รับเหมาผิดสัญญาดังกล่าวได้ รวมตลอดถึงค่าฤชาธรรมเนียมในการฟ้องร้องคดีและค่าทนายความจากผู้รับเหมาได้ด้วย”

สรุปก็คือ อย่างแรกเราควรที่จะต้องมีการทำสัญญาเสมอในงานที่เกี่ยวกับการ “รับเหมาก่อสร้าง” และในสัญญานั้นต้องเป็นธรรมและเหมาะสมกับทั้งสองฝ่าย พูดง่ายๆ คือ ยินยอมและเชื่อมั่นว่าดำเนินการได้ตามสัญญานั้นจริงๆ เพื่อเป็นกรอบในการทำงาน และป้องกันในการเกิดปัญหาที่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้ในกรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดผิดสัญญา เรื่องนี้ ดีกับทั้งเจ้าของบ้าน และผู้รับเหมา ต่อมาหากปรากฏว่าเกิดปัญหาขึ้น เราจะต้องเริ่มจากการพิจารณาดูให้ดีว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ ผู้รับเหมา ไม่สามารถดำเนินการในงานก่อสร้างให้แล้วเสร็จได้ตามสัญญาที่กระทำไว้ ฝ่ายผู้จ้างมีส่วนทำให้เกิดปัญหาติดขัดอะไรหรือเปล่า เรื่องนี้ถือเอาข้อตกลงในสัญญาเป็นหลัก ตามด้วยเหตุผล ขั้นแรกควรเริ่มจากเจรจากันก่อน หากไม่ได้ผล ตกลงกันไม่ได้ก็ถึงจะไปพึ่งในเรื่องของกฎหมาย ก็อย่างที่เห็นว่า สามารถเรียกร้องให้ ผู้รับเหมา ดำเนินการต่อให้แล้วเสร็จได้ตามสัญญา ไม่ว่าจะโดนเข้ามาดำเนินการเอง หรือ ให้ผู้อื่นมาดำเนินการ โดยที่ ผู้รับเหมา จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย และยังสามารถเรียกร้องค่าเสียหายบวกกับดอกเบี้ย รวมไปถึงค่าดำเนินการในการฟ้องร้องได้อีกต่างหาก...

เพราะฉะนั้น ผู้รับเหมา ทุกท่าน ก่อนที่เราจะไปตกลงทำงานให้กับผู้ว่าจ้างรายใด ควรสำรวจความพร้อมของเราเองให้ดีก่อน เพื่อที่จะไม่เกิดความเสียหายและภาระขึ้นในภายหลัง เพราะมันเป็นเรื่องที่มีแต่เสียกับเสีย ทั้งชื่อเสียง เงิน และเวลา รวมไปถึงความรู้สึกของทั้งฝ่ายผู้ว่าจ้าง และตัวเราเองด้วย...

#ผู้รับเหมา #ผู้รับเหมาทิ้งงาน #ผู้รับเหมาทิ้งานทำไงดี #กฎหมายเกี่ยวกับการก่อสร้าง #รับเหมาก่อสร้าง #ผู้รับเหมาก่อสร้าง
Share
6160