ฟังความจริง ไลเซนส์ช่างไฟฟ้า จากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
ประเด็นเรื่อง ไลเซนส์ช่างไฟฟ้า ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้สำหรับ “ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร” ทุกคนในวันที่ 26 ตุลาคม 2559 ที่จะถึงในอีกไม่นานนี้ เป็นประเด็นที่ร้อนแรง และบอกตามตรงว่าเป็นเรื่องทำเอาหลายๆ คนเกิดความร้อนใจ ! เพราะเมื่อกฎหมายบังคับใช้ ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับทั้งตัวช่างและผู้จ้าง !! วันนี้ houzzMate Close Up ขออาสาไปตามหาคำตอบที่แท้จริงมาตอบข้อสงสัยให้กับทุกท่าน โดยเป็นการไปสอบถามโดยตรงกับ เจ้าหน้ากรมพัฒนาฝีมือแรงงาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องนี้ !!
houzzMate Close Up รายการที่จะมาสร้างความรู้ความเข้าใจ เพื่อให้ช่างกับผู้อยู่อาศัยพูดคุยกันได้ง่ายขึ้น... ได้รับฟังคำถาม ข้อสงสัย ตลอดจนถึงความวิตกกังวลของทั้งช่างไฟฟ้า และผู้ที่มีความจำเป็นต้องจ้างช่าง จำนวนมาก ที่เกิดความกังวล และมีความสงสัย เกี่ยวกับ ไลเซนส์ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 26 ตุลาคม ที่จะถึงนี้ เราจึงได้ เดินทางไปติดต่อ เพื่อขอสัมภาษณ์ หาคำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้มาให้ผู้สนใจได้รับฟังข้อเท็จจริง โดยเราได้ติดต่อประสานงานไปที่ ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดลำพูน หนึ่งในหน่วยงานของ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ที่เป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องนี้ และยังเป็นสถานที่อบรมและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ให้กับช่างไฟฟ้าภายในอาคารด้วย
ซึ่งเราสามารถสรุปประเด็นคำถามและคำตอบที่ได้รับมาจากเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานพัฒนาฝีมือแรงงานดังนี้...
1. ที่มาของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ เกิดจากอะไร ?
: ที่มาของ พ.ร.บ. ฉบับนี้เกิดจากความกังวลในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งเราจะสังเกตเห็นได้ว่า มักมีข่าวการเกิดเพลิงไหม้ การได้รับอันตรายจากกระแสไฟฟ้า ภายในอาคารที่อยู่อาศัยหรือที่ทำงานเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งหนึ่งในสาเหตุที่น่ากังวลก็คือ การติดตั้งหรือเดินไฟฟ้าโดยผู้ที่ไม่มีความรู้ความชำนาญที่เพียงพอ บางรายก็เป็นช่างประเภทครูพักลักจำ เห็นเขาทำก็ทำตามเขาไป ไม่ได้มีความรู้ และไม่มีประสบการณ์การทำงานในเรื่องนี้อย่างเพียงพอ ดังนั้น จึงมีการออก พ.ร.บ.ฉบับนี้ขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ปลอดภัยมากขึ้นโดยช่างที่มีมาตรฐาน
2. จะเริ่มมีการบังคับใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้เมื่อใด และมีโทษอย่างไรบ้าง ?
: จะมีการบังคับใช้ในวันที่ 26 ตุลาคม 2559 นี้ ซึ่งจะเริ่มมีการออกตรวจสอบ สำหรับโทษ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ช่างไฟฟ้าที่ทำงาน หากไม่มีหนังสือรับรอง หรือไลเซนส์ จะถูกปรับเป็นเงินไม่เกิน 5000 บาท ต่อครั้งต่อราย และส่วนที่ 2 ก็คือผู้จ้าง ซึ่งจะมีโทษปรับ 30,000 บาท/ครั้ง ซึ่งคำว่า “ผู้จ้าง” ในที่นี้ หมายถึง ผู้ประกอบ ที่เป็นผู้จ้างช่างมาทำงาน ไม่เกี่ยวกับเจ้าของบ้าน แม้เจ้าของบ้านจะเป็นผู้จ้างมาทำงานเองก็ไม่ถือว่ามีความผิด จะผิดเฉพาะผู้ที่เป็นผู้จัดหาจัดจ้างช่างมาทำงานเท่านั้น
3. ส่วนหนึ่งที่ช่างจะต้องผ่านก่อนการได้ไลเซนส์ ก็คือ มาตรฐานฝีมือแรงงาน ซึ่งสำหรับช่างไฟฟ้าภายในอาคารแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ...
ระดับที่ 1 สามารถทำงานติดตั้งได้อย่างถูกต้องตามแบบที่มอบหมายให้
ระดับที่ 2 สามารถวิเคราะห์ แก้ไขปัญหาในงานช่างไฟฟ้าภายในอาคารได้
ระดับที่ 3 สามารถออกแบบระบบ คิดวิเคราะห์คำนวณระบบ สั่งงาน ตรวจสอบและสั่งวัสดุอุปกรณ์ได้
4. ลักษณะในการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ อันเป็นส่วนหนึ่งที่ช่างต้องผ่านก่อนจึงจะมีสิทธิ์ขอรับไลเซนส์ได้มีอะไรบ้าง ?
: การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การสอบภาคทฤษฎี โดยการทำข้อสอบและการสอบปฏิบัติ ซึ่งทั้ง 2 ส่วนใช้เวลา 5 ชั่วโมง แบ่งเป็นการทำข้อสอบ 1 ชั่วโมง และทดสอบปฏิบัติ 4 ชั่วโมง นอกจากนี้ ที่ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดลำพูน และศูนย์อื่นๆ ที่มีความพร้อม ยังสามารถจัดการฝึกอบรมให้กับช่างก่อนเพื่อให้เกิดความมั่นใจและทราบแนวทางได้อีกด้วย โดยการ ฝึกอบรมสำหรับช่างที่มีประสบการณ์ครบ มีวุฒิการศึกษาตรง ก็จะใช้เวลา 18 ชั่วโมง แบ่งเป็น 3 วัน วันละ 6 ชั่วโมง มีการสอนทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ
5. ผู้ที่จะเข้าขอรับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ อันเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของช่างที่จะมีสิทธิ์ได้รับไลเซนส์ จะต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง ?
: ผู้ที่จะมีคุณสมบัติในการเข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติจะต้องมีคุณสมบัติ
- อายุ 18 ปี ขึ้นไป
- ผ่านการเรียนในสาขาช่างไฟฟ้า หรือมีประสบการณ์การทำงานไม่น้อยกว่า 2 ปี ขึ้นไป
- เป็นผู้ที่มีสัญชาติไทย
6. ในกรณีที่ไม่ได้เรียนมาในสาขาวิชาช่างไฟฟ้าจะมีสิทธิ์ได้รับไลเซนส์ช่างไฟฟ้าภายในอาคารหรือไม่ ?
: ได้ ถึงไม่มีประสบการณ์ก็สามารถขอรับไลเซนส์ได้ โดยอาศัยประสบการณ์การทำงานไม่น้อยกว่า 2 ปี ขึ้นไป ถือว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติ สามารถเข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ และขอรับไลเซนส์ช่างไฟฟ้าได้
7. ในกรณีที่เป็นลูกมือของช่าง มีหน้าที่หิ้วของ จำเป็นจะต้องมีไลเซนส์ด้วยหรือไม่ ?
: ในกรณีเป็นลูกมือทำหน้าที่ช่วยหิ้วของส่งของ ไม่จำเป็นต้องมีไลเซนส์ เพราะไม่ใช่ช่าง แต่... ต้องไม่เผลอให้ผู้ช่วยเหล่านี้ทำงาน จะเป็นการทำเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่ได้ เพราะถือว่ายังไม่ได้รับหนังสือรับรองอนุญาตให้ทำงานได้ การตรวจจับเป็นลักษณะ ความผิดซึ่งหน้า คือ หากพบว่ากระทำความผิดจึงจะมีการจับปรับ
8. ใครหรือหน่วยงานใดเป็นผู้มีหน้าที่ในการตรวจจับผู้กระทำผิด พ.ร.บ. ?
: หน่วยงานของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และหน่วยงานอื่นของกระทรงแรงงาน ที่ได้รับอนุญาตให้ทำหน้าที่นี้จะเป็นผู้ดำเนินการในช่วงแรก แต่ในอนาคตก็จะมีการสร้างบุคลากรในส่วนนี้เพิ่มเพื่อให้เพียงพอต่อการควบคุมบังคับใช้กฎหมาย อย่างไรก็ตาม จะเป็นไปโดยละมุนละม่อม เพราะ พ.ร.บ. ฉบับนี้ เกิดขึ้นเพื่อช่วยให้ช่างในประเทศของเราพัฒนาความสามารถให้มีมาตรฐานและมีทักษะสูงขึ้น
นอกจากนี้ เราจะต้องมาทำความเข้าใจกันให้ชัดเจนอีกครั้ง เนื่องจากมีหลายท่านเข้าใจว่า เมื่อไปอบรม 3 วัน และทดสอบแล้วก็ถือว่าได้รับไลเซนส์แล้ว แต่ในความเป็นจริง การผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ เป็นส่วนหนึ่งของการจะได้รับไลเซนส์เท่านั้น !!!
การที่จะได้รับไลเซนส์ จะประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆ คือ
1. ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ มีน้ำหนัก 50%
2. มีประสบการณ์การทำงาน / ผ่านการเรียนในสาขาช่างไฟฟ้า / ผ่านการฝึกอบรม มีน้ำหนัก 25%
3. ผ่านการประเมินและสัมภาษณ์จากเจ้าหน้าที่ มีน้ำหนัก 25%
ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้ ช่างที่จะได้ไลเซนส์ จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับคะแนนจากทั้ง 3 ส่วนรวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 85% สำหรับเรื่องนี้เราจะไปสอบถาม เพื่อหารายละเอียดเพิ่มเติมมาให้ท่านที่สนใจได้ทราบอีกครั้ง โปรดติดตาม ตอนต่อไป...
พิเศษ !! สำหรับช่างไฟฟ้าภายในอาคารทุกท่าน houzzMate จัดกิจกรรม ฟรี การอบรม และ ฟรี การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ !! ณ ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน จังหวัดลำพูน ช่างไฟฟ้าภายในอาคารที่สนใจ คลิกที่นี่ เพื่อแจ้งความประสงค์
คลิกเพื่อแจ้งความประสงค์เข้ารับการอบรมและรับการทดสอบ ฟรี