สวัสดีครับวันนี้รายการ houzzmate to know รอบรู้เรื่องช่าง จะมาให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของ " สัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง " ที่ปกติเราจะทำขึ้นระหว่าง เจ้าของบ้านกับผู้รับเหมา เพื่อเป็นข้อผูกมัดที่การก่อสร้างนั้นๆ เเต่ในเอกสารสัญญาต่างๆ ควรมีหรือระบุอะไรลงไปบ้าง เรามาดูกันครับ
รายละเอียดที่ควรมีในสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง
1.วันที่และสถานที่ทำสัญญา เพื่อให้ทราบถึงวันที่สัญญาเริ่มมีผลบังคับ อันจะส่งผลในเรื่องสิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญา และมีผลในทางกฎหมายหลายๆเรื่อง เช่น คู่สัญญาจะพึงทราบได้ว่า สัญญาเริ่มต้นเมื่อใด วันนับระยะเวลารับประกันผลงานเริ่มแต่เมื่อใด รวมตลอดถึงการเริ่มนับอายุความในการฟ้องคดี หากวันหนึ่งจำเป็นต้องมีการดำเนินการทางศาล
ส่วนสถานที่ทำสัญญานั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการพิจารณาว่ามูลคดีเกิดที่ใด โดยหลักจะพิจารณาว่าสัญญาทำขึ้นที่ใด ซึ่งก็ต้องพิจารณาจากข้อมูลในสัญญา
2. ข้อมูลส่วนบุคคลคู่สัญญาระหว่างผู้ว่าจ้าง (เจ้าของบ้าน) และผู้รับจ้าง (ผู้รับเหมาก่อสร้าง) ไม่ว่าจะเป็นชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน และข้อมูลอื่น ๆ ที่สามารถยืนยันตัวตนและตรวจสอบได้ ข้อมูลส่วนนี้ ควรระบุเลขบัตรประจำตัวประชาชนของคู่สัญญาไว้ด้วย เพื่อความสะดวกและง่ายแก่การดำเนินการต่างๆทางกฎหมาย
3. ขอบเขตและลักษณะของเนื้องานที่รับผิดชอบ ผู้ว่าจ้างตกลงว่าจ้างผู้รับจ้างทำการก่อสร้างบ้านแบบไหนระบุลงในสัญญาให้ชัดเจนไม่ว่าจะเป็น ลักษณะของแบบบ้าน, สถานที่ที่ทำการก่อสร้าง
4. ราคา และรายละเอียดการจ่ายงวดงาน
- ค่าจ้างทั้งหมด,วิธีการชำระค่าจ้าง,วันถึงกำหนดชำระค่าจ้าง
- ข้อตกลงในการชำระค่าจ้างควรระบุให้สัมพันธ์กับการส่งมอบงาน โดยควรแบ่งการส่งมอบงานเป็นงวดๆ โดยกำหนดความแล้วเสร็จของงานเป็นส่วนๆ และให้ผู้รับจ้างมีหน้าที่ส่งมอบงานเป็นงวดๆตามส่วนงานที่แล้วเสร็จนั้น ฉันใดกลับกันก็ฉันนั้น ผู้ว่าจ้างก็ต้องชำระราคาค่าจ้างตามงวดงานที่แล้วเสร็จเป็นงวดๆนั้นเช่นกัน เพื่อความสะดวกในการตวจสอบและติดตามงานและการชำระค่าจ้างของคู่สัญญา
- ข้อมูลเกี่ยวกับงวดงานและการชำระค่าจ้างที่คู่สัญญาได้กำหนดไว้นั้น ควรระบุรายละเอียดให้ชัดเจน ว่างวดใดเป็นการส่งมอบงานเมื่อแล้วเสร็จถึงขั้นตอนใด ผู้ว่าจ้างต้องชำระราคาเท่าใด
5. ระยะเวลาของสัญญา ตั้งแต่เริ่มดำเนินการก่อสร้าง จนดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ ใช้ระยะเวลาการก่อสร้างโดยประมาณกี่เดือน
6. หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ว่าจ้าง (เจ้าของบ้าน) ควรมีรายละเอียดกำกับไว้อย่างชัดเจนในสัญญาว่าจ้าง เช่น
- สิทธิ์ในการปรับเปลี่ยนแก้ไขเพิ่มเติมหรือปรับลดรายการและแบบก่อสร้างเดิม หรือปรับเปลี่ยนวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างภายในระยะเวลาที่กำหนดที่ตกลงกันไว้ โดยไม่ต้องยกเลิกสัญญาว่าจ้าง แต่ควรทำการตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรและมีความตกลงยินยอมกันทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งนี้ ควรตกลงถึงเงื่อนไขที่จะตกลงให้แก้ไขงานกันให้ชัดเจน
-ข้อตกลงเรื่องชนิด ปริมาณ ขนาดและคุณภาพของวัสดุที่ใช้ในการทำงานตามสัญญา
- ผู้ว่าจ้างมีสิทธิ์สั่งหยุดงาน หากเห็นว่ามีการดำเนินการไม่ถูกต้องตามแบบแปลน หรือมีสิทธิระงับและไม่จ่ายค่างวดงานในส่วนดังกล่าว หากผู้รับเหมาไม่ทำการแก้ไขหรือซ่อมแซมในส่วนที่เสียหายที่ไม่เป็นไปตามที่แจ้งให้แก้ไข
7. หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้รับจ้าง (ผู้รับเหมาก่อสร้าง)
- ผู้รับจ้างจะต้องดำเนินการก่อสร้างให้ถูกต้องและแล้วเสร็จตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างในระยะเวลาที่กำหนด
- ข้อตกลงเรื่องความยินยอมให้ผู้รับจ้างการแบ่งงานหรือมอบหมายงานให้บุคคลอื่นทำงาน คู่สัญญาควรพิจารณาและตกลงกันให้ชัดเจนว่า ผู้ว่าจ้างยินดีที่จะให้ผู้รับจ้างโอนงาน หรือแบ่งงานที่ได้รับจ้างให้แก่บุคคลอื่นหรือไม่ ทั้งนี้ ต้องพิจารณาว่า ผู้ว่าจ้างให้ความสำคัญกับคุณสมบัติหรือความสามมารถเฉพาะตัวของตัวผู้รับจ้างเพียงใด หากคุณสมบัติหรือความสามารถเฉพาะตัวของผู้รับจ้างเป็นสาระสำคัญของการจ้างงานครั้งนี้ ก็ควรระบุในสัญญาให้ชัดเจนถึงข้อกำหนดในการห้ามมิให้แบ่งงานหรือโอนงานแก่ผู้อื่น แต่หากผู้ว่าจ้างยินดีให้ผู้รับจ้างแบ่งงานหรือส่งมอบงานให้ผู้อื่นทำ ก็ควรระบุไว้ แต่ควรมีข้อความให้ผู้รับจ้างยังคงเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมดตามระบุในสัญญา
- หากมีการเพิ่มเติมหรือลดงานส่วนใดส่วนหนึ่งที่ไม่เป็นไปตามแบบ ผู้รับจ้างจะต้องทำเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษรแจ้งให้ผู้ว่าจ้างรับทราบ
- ผู้รับจ้างจะต้องทำการยินยอมให้ตัวแทนของเจ้าของบ้าน หรือ เจ้าของบ้านทำการตรวจสอบวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง สถานที่ และขั้นตอนในการก่อสร้าง เพื่อตรวจประเมินผลงานตรงตามแบบแปลนและ BOQ หรือไม่
8. เครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้าง จะได้มีคุณภาพ เหมาะสมกับลักษณะงาน ควรมีเอกสารรายการระบุแนบท้ายเอกสาร เพื่อใช้ในการตรวจสอบ
9. การประกันคุณภาพผลงานหลังจากการับส่งมอบงาน โดยระยะเวลาประกันงานขึ้นอยู่กับประเภทงานและการเจรจา โดยส่วนใหญ่อยู่ที่ 1-5 ปี ซึ่งหากเกิดความเสียหายเกิดขึ้นกับตัวบ้านในระยะเวลาเอาประกัน ไม่ว่าจะเป็นหลังคารั่ว บ้านมีรอยแตกร้าว หรือสาเหตุอื่นใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับภัยธรรมชาติ ผู้รับจ้างตกลงทำการแก้ไข ซ่อมแซ่มให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานดังเดิม
10. การยกเลิกสัญญา คู่สัญญาควรร่วมกันคิดและระบุถึงข้อตกลงต่างในในการจำกัดความรับผิดของแต่ละฝ่ายเท่าที่เป็นธรรมและไม่เป็นการเอาเปรียบคู่สัญญาอีกฝ่าย เช่น ข้อจำกัดความรับผิดในการส่งมอบงานล่าช้าเพราะเกิดภัยธรรมชาติ,ข้อจำกัดความรับผิดอื่นๆที่อาจมีขึ้นตามสภาพของงานที่จ้าง
- การยกเลิกสัญญาว่าจ้างและสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหาย ควรทำการระบุให้ชัดเจน
11. การลงนามตกลงเซ็นสัญญาจ้างรับเหมาก่อสร้าง จะประกอบไปด้วย
- ผู้ว่าจ้าง (เจ้าของบ้าน)
- ผู้รับจ้าง (ผู้รับเหมาก่อสร้าง)
-พยาน
ทั้งหมดนี้คือข้อหลักๆที่ควรจะระบุมีในสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างให้ครบถ้วน ส่วนหากมีข้อเพิ่มเติมหรืออะไรเป็นพิเศษ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย ก่อนจะระบุหรือทำข้อตกลงกันด้วยนะครับ