ไม่ว่าจะอุดรอยรั่วที่หลังคา ปิดรอยร้าวที่ผนัง ซ่อมแซมพื้น ปูกระเบื้อง ติดไม้บัวกับกำแพง ติดกรอบประตู-หน้าต่าง หรืองานอื่นที่เป็นลักษณะปิดรอยต่อระหว่างวัสดุต่าง ๆ ล้วนแล้วต้องใช้ยาแนวเป็นตัวช่วยทั้งสิ้น แต่ยาแนว หรือเรียกอีกอย่างว่า Sealant ก็มีหลายประเภท บางคนอาจะเลือกใช้ไม่ถูก บทความนี้จึงจะขอแนะนำให้รู้จักกับยาแนวแต่ละประเภทว่าใช้งานต่างกันอย่างไร
จุดประสงค์ของการใช้ยาแนวหลัก ๆ แล้ว มีอยู่ 2 อย่าง คือ ปิดรอยต่อ (Seal) เช่น อุดหลังคารั่ว ปิดผนังร้าว ยาแนวกรอบประตู-หน้าต่าง และยึดติดวัสดุ (Adhesive) เช่น ติดกระจกตู้ปลา ส่วนประเภทของยาแนว มีด้วยกัน 4 ประเภท
1. อะคริลิก (Acrylic)
ยาแนวประเภทนี้มีความยืดหยุ่น 5% ซึ่งถือว่าน้อยที่สุด ในบรรดายาแนวแต่ละประเภท ทำมาจากวัสดุกลุ่มไฮโดรคาร์บอน (คาร์บอน ไฮโดรเจน ออกซิเจน) ใช้น้ำเป็นตัวทำละลาย จึงไม่ควรใช้ยาแนวประเภทนี้ในพื้นที่ที่เปียกชื้น เพราะจะทำให้เนื้ออะครีลิคไม่แข็งตัว แต่หากใช้ในพื้นที่ที่เหมาะสม เมื่อยาแนวอะครีลิคนี้แข็งตัวแล้วจะไม่ละลายน้ำ ยาแนวอะคริลิคเหมาะกับงานปิดรอยต่อ เพราะสามารถขัดแต่งผิวงานและทาสีทับได้อย่างสวยงาม เช่น ปิดรอยร้าวที่ผนัง ยาแนวเชื่อมรอยต่อกรอบประตู-หน้าต่างเข้ากับผนัง หรือยาแนวรอยต่อของสุขภัณฑ์ เป็นต้น ยาแนวประเภทนี้สามารถใช้ได้กับทุกพื้นผิว และมีสีหลากหลายให้เลือกใช้ให้เหมาะสมกับวัสดุนั้น ๆ แต่ไม่ทนต่อรังสี UV จึงไม่ควรใช้ภายนอกอาคาร เพราะอายุการใช้งานจะสั้น
2. ซิลิโคน (Silicone)
เป็นยาแนวที่มีความยืดหยุ่นสูงถึง 25% ทำมาจากวัสดุโพลิเมอร์ ยาแนวซิลิโคนนี้เป็นวัสดุกึ่งเหลวที่มีความยืดหยุ่นสูง ทนต่อรังสี UV จึงสามารถใช้ภายนอกอาคารได้ มีแรงยึดเกาะสูง และด้วยคุณสมบัติที่สามารถนำไปใช้ได้สารพัดประโยชน์ ยาแนวประเภทนี้จึงนิยมใช้กันมากที่สุด ยาแนวซิลิโคนเป็นเพียงประเภทหนึ่งของวัสดุปิดรอยต่อ ยาแนวซิลิโคนนิยมใช้กับรอยต่อระหว่างอลูมิเนียมกับกระจก โดยเฉพาะอาคารสูงที่มีการติดตั้งกระจกจำนวนมาก ยาแนวประเภทนี้ไม่สามารถทาสีทับได้ แต่มีหลากหลายสีให้เลือกใช้งาน เช่น สีใส ใช้กับงานกระจก สีขาว ใช้กับงานสุขภัณฑ์ และสีดำ ใช้กับพื้นผิวสีเข้ม อย่างท็อปเคาน์เตอร์แกรนิตในห้องครัว
ยาแนวซิลิโคนมี 2 ประเภท คือ ยาแนวซิลิโคนแบบมีกรด จะมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว ซึ่งกลิ่นเหม็นเปรี้ยวเป็นสารระเหยที่ทำให้ยาแนวแห้งเร็วเหมาะกับงานปิดรอยต่อระหว่างกระจกกับกระจก เพราะมีแรงยึดเกาะสูง พื้นผิวที่ไม่เหมาะกับยาแนวซิลิโคนแบบมีกรด เป็นพวกกลุ่มโลหะและหินอ่อน เพราะกรดจะไปทำปฏิกิริยากัดกร่อนพื้นเหล่านั้นให้เกิดความเสียหายได้ ส่วนยาแนวซิลิโคนแบบไม่มีกรด จะไม่มีกลิ่นเหม็น แห้งช้ากว่า และมีแรงยึดเกาะที่น้อยกว่า แต่จะมีความยืดหยุ่นที่มากกว่า พื้นผิวที่เหมาะกับการใช้งาน เช่น คอนกรีต ปูน อิฐ ไม้ เซรามิก และอะลูมิเนียม ดังนั้น ควรเลือกใช้ยาแนวให้เหมาะกับชนิดของพื้นผิว เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และไม่ทำให้พื้นผิวเสียหาย
3. โพลียูรีเทน (Poly Urethane)
ยาแนวประเภทนี้มักเรียกกันว่า พียู (PU) มีความยืดหยุ่นตัวสูงถึง 35% แข็งแรง ทนทาน แห้งเร็ว แห้งแล้วไม่หดตัว จึงสามารถอุดรอยต่อในที่ที่มีการเคลื่อนตัวได้ดี สามารถใช้ได้ทั้งภายในและภายนอกอาคาร เพราะทนต่อรังสี UV ทาสีทับได้ ยาแนวโพลียูริเทนนี้ เหมาะกับงานรอยต่อระหว่างโครงสร้างของอาคาร แผ่นพรีคาสท์ คอนกรีต ปิดรอยต่อเมทัลชีท อุดรอยต่อกระเบื้องมุงหลังคา ใช้ยาแนวกระเบื้องเซรามิค หิน สุขภัณฑ์ เป็นต้น
4. โมดิฟายซิลิโคน (Modified Silicone)
ยาแนวประเภทนี้ ถูกพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาของยาแนวแบบเดิม โดยการนำข้อดีของยาแนวแบบอะคริลิคและซิลิโคนมาพัฒนา ให้ยาแนวสามารถทาสีทับได้เหมือนยาแนวอะคริลิคและพียู มีความยืดหยุ่นตัวและยึดเกาะตัวสูง ป้องกันรังสี UV ได้เหมือนยาแนวซิลิโคน สามารถใช้งานในที่เปียกชื้นได้ ใช้งานได้กับเกือบทุกพื้นผิว ทั้งคอนกรีต ปูน โลหะ หินธรรมชาติ สเตนเลส อะลูมิเนียม พีวีซี ไม้ ไฟเบอร์ซีเมนต์ และโพลีสไตรีน ไม่มีกรดที่เป็นอันตราย กลิ่นไม่แรง
นี่เป็นขั้นตอนในการจัดการปัญหาสีผนังหลุดร่อนงานสีที่สามารถทำเอง ถ้ายัง หาช่าง ไม่ได้ แต่ถ้าเป็นงานใหญ่หรือต้องการ ช่างสี มืออาชีพมาทำงานให้ houzzMate เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สะดวกในการ หาช่าง ใกล้บ้านที่พร้อมบริการให้กับคุณ