ก๊อกน้ำรั่วซึมอาจดูเหมือนเป็นงานใหญ่ แต่หากหาสาเหตุของปัญหาน้ำรั่วซึมได้ ก็ซ่อมเองง่าย ๆ โดยไม่จำเป็นต้องเรียกช่างเลย
อาการและวิธีการซ่อมแซมก๊อกน้ำที่รั่ว
1. หากมีน้ำค่อย ๆ หยดออกมาเป็นระยะ ไม่หยุด ตรงปลายก๊อกที่น้ำออก และเมื่อเอามือไปโน้มก้านเปิด-ปิด น้ำที่หยดจะหยุด อาการแบบนี้ มีได้หลายสาเหตุ ดังนี้
- ก้านจับเปิด-ปิดเสื่อม เนื่องจากปิดก๊อกน้ำแรงมือไปหน่อย วิธีการ คือ แนะนำให้ซื้อก๊อกน้ำอันใหม่มาเปลี่ยน
- วาล์วเปิด-ปิดก๊อกที่อยู่ด้านในหลวม แผ่นซีลแหวนยางสึกหรือประกบกันไม่แน่น วิธีการ คือ
• ปิดวาล์วน้ำที่จ่ายมายังก๊อกน้ำ (Stop valve) ก่อนซ่อมแซมก๊อกน้ำทุกครั้ง
• เปิดฝาครอบที่ก้านจับเปิด-ปิดออกมา จะเห็นวาล์วเปิด-ปิดก๊อกด้านใน ให้หมุนถอดออกมา
• จะเห็นแผ่นซีลแหวนยางที่ตรงปลายด้านล่างของวาล์วก๊อกเปิด-ปิด หากแผ่นยางนั้นสึกให้หาแหวนยางบาง ๆ มาหนุนยางเก่า ซึ่งแผ่นแหวนยางนี้มีหน้าที่ป้องกันน้ำรั่วซึม
• เมื่อเสริมแผ่นยางเรียบร้อยแล้ว ให้ประกอบวาล์วเปิด-ปิดเข้าที่เดิม
• เปิดวาล์วน้ำที่จ่ายมายังก๊อกน้ำ เพื่อเช็คว่าน้ำยังหยดอยู่หรือไม่ แค่นี้ปัญหาน้ำที่หยดก็จะหายไป
2. น้ำซึมที่คอข้อต่อก๊อกน้ำ อาจเป็นเพราะระหว่างตรงคอข้อต่อกับกำแพงหรืออ่างที่ก๊อกน้ำยึดอยู่เกิดช่องว่าง ทำให้น้ำรั่วซึมออกมา วิธีการ คือ
• ปิดวาล์วน้ำที่จ่ายมายังก๊อกน้ำ (Stop valve) ก่อนซ่อม
• หาผ้ามาหุ้มตัวก๊อกน้ำก่อน เพื่อไม่ให้ตัวก๊อกสึก ใช้ประแจเลื่อนจับตัวก๊อก และหมุนคลายตัวก๊อกออกมาจากข้อต่อที่ยึด (อาจเป็นกำแพง หรืออ่าง เป็นต้น)
• จะเห็นเทปพันเกลียวที่ตรงปลายก๊อก ให้แกะออกแล้วพันใหม่ที่เกลียวตรงปลายก๊อก พันประมาณ 4-5 รอบ เพื่อให้ก๊อกน้ำยึดกับข้อต่อแน่นพอดีมากขึ้น
• ทำความสะอาดเกลียวข้อต่อที่ก๊อกน้ำยึด เพราะอาจมีเศษเทปพันเกลียวเดิมหลงเหลืออยู่
• จากนั้นค่อย ๆ ใช้มือหมุนก๊อกน้ำกลับเข้าไปตรงข้อต่อที่ยึดให้พอหลวม ๆ แล้วเอาผ้ามาคลุมที่ตัวก๊อก ใช้ประแจเลื่อนจับตัวก๊อก ลัหมุนตัวก๊อกกลับเข้าไปให่แน่น ปรับหัวก๊อกให้ตรง
• เปิดวาล์วน้ำที่จ่ายมายังก๊อกน้ำ เพื่อเช็คว่าไม่มีน้ำรั่วซึมที่ข้อต่อแล้ว จากนั้นก็ใช้งานตามปกติ